อาหารที่มีปริมาณของวิตามินดีนั้นมีน้อยชนิดมาก ส่วนมากของอาหารไทยจะไม่มีวิตามินดี พบมากในปลาทะเล บริเวณส่วนเนื้อที่มีไขมัน และเห็ดแต่ก็มีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องได้รับเสริมจากแหล่งอื่นในทุกช่วงอายุ
- • ในเด็กแรกเกิด ที่กินนมแม่อย่างเดียว จะพบว่ามีปริมาณวิตามินดีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงจำเป็นต้องเสริมวิตามินดีสำหรับเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว
- • ในเด็กวัยเรียน ต้องได้รับวิตามินดีเสริมในรูปของนมหรืออาหารที่ผ่านกระบวนการผสมวิตามินดี ที่เรียกว่า Fortified Milk ซึ่งนมกล่อง ในลักษณะนมวัวแท้ๆ จะไม่มีปริมาณของวิตามินดีและธาตุเหล็กเพียงพอสำหรับเด็กในวัยนี้ ทำให้เด็กขาดวิตามินดี ทำให้กระดูกและฟันไม่แข็งแรง
ลักษณะการขาดวิตามินดี อาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- • กล้ามเนื้ออ่อนแรงง่าย เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง เป็นตะคริวง่ายตรวจพบกระดูกบางและความหนาแน่นของกระดูกน้อย ส่วนสูงในเด็กต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย (เตี้ย)
- • มีอาการปวดหลัง ปวดกระดูกบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุอื่น หรือมีอาการกระดูกสันหลังคด
- • มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่งเสริมให้มีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้ได้สูงขึ้น เช่น เบาหวาน โรครูมาตอยด์ ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE)
- • เจ็บป่วยติดเชื้อง่าย
- • โรคทางจิตประสาท เช่น ซึมเศร้า (Depression), สมองเสื่อม(Alzheimer), โรคสันนิบาตลูกนก (พาร์กินสัน Parkinson), ภาวะสับสนเฉียบพลัน (Delirium)
- • โรคทางผิวหนัง เช่น โรคภูมิแพ้ของผิวหนัง (Atopic dermatitis), ผมร่วง, แผลหายช้า
- • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง
- • โรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งลำไส้ ชนิด Colorectal, มะเร็งเต้านม
การวินิจฉัย
สามารถเจาะเลือด เพื่อตรวจหาปริมาณวิตามินดีในร่างกาย และตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก
การออกกำลังกายกลางแจ้ง ในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ แสงแดดกลางแจ้ง ในช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น. นาน 15 – 30 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างถูกต้อง และในเด็ก ให้กินนมที่มีส่วนผสมของวิตามินดีและธาตุเหล็ก พักผ่อนให้เพียงพอ มีความรู้ มีความระมัดระวังในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย
นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
27 พฤษภาคม 2563