โรคเส้นเลือดขอด

   โรคเส้นเลือดขอด ภัยเงียบที่แฝงอยู่กับกิจวัตรประจำวันของตัวคุณเอง โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ดูแลเอาใจใส่เรียวขาคู่สวยเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดเส้นเลือดขอดขึ้นมาคงเสียความมั่นใจในการสวมใส่กระโปรงหรือกางเกงขาสั้นไม่ใช่น้อย เพราะจากสถิติการเกิดเส้นเลือดขอด จะพบมากในผู้หญิง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีน้ำหนักมาก และผู้ที่นั่งหรือยืนนาน ๆ

   เส้นเลือดขอด เป็นโรคที่หลอดเลือดดำในบริเวณใต้ผิวหนังชั้นตื้นมีการโตขยายขนาด คดเคี้ยว สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณขา หลอดเลือดดำจะลำเลียงเลือดกลับเข้าสู่หัวใจในความดันประมาณ 20 มิลลิเมตรปรอท โดยที่เลือดในกล้ามเนื้อขาจะเข้าไปในหลอดเลือดดำส่วนลึก ส่วนเลือดจากผิวหนังและเนื้อเยื่อที่อยู่รอบนอกจะไหลไปตามหลอดเลือดดำ เมื่อมีความผิดปกติของการรวมกันของหลอดเลือดดำที่ตำแหน่งนี้จะทำให้ เลือดย้อนลงตามหลอดเลือดดำส่วนตื้น ทำให้มีการโป่งขยายตัวของหลอดเลือดดำส่วนปลายที่เรียกว่า ภาวะหลอดเลือดขอด ซึ่งเป็นความผิดปกติของหลอดเลือดดำที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาจากแพทย์ที่พบบ่อยที่สุด

สาเหตุที่ทำให้เกิดหลอดเลือดขอด
  • การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น การยืน การนั่ง การเดิน เป็นเวลานานและต่อเนื่องจะทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก จะเกิดแรงดันภายในหลอดเลือดดำ 
  • น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ทำให้เกิดแรงดันสูงขึ้นภายในหลอดเลือดที่บริเวณขา เป็นเหตุให้เกิดเส้นเลือดขอดที่ขาได้
  • อายุที่เพิ่มขึ้น จะพบเส้นเลือดขอดมากขื้น ผนังหลอดเลือดดำจะมีความยืดหยุ่นน้อยลง อาจเกิดการอุดตันของเส้นเลือดสูง และลิ้นเล็กๆ ภายในหลอดเลือดเสื่อม ไม่สามารถปิดกั้นการไหลย้อนกลับของเลือดได้
  • ผู้หญิงมีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้หญิง การตั้งครรภ์ รวมถึงการรับประทานยาคุมกำเนิด
  • การตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย และมดลูกที่โตขึ้นกดหลอดเลือด จึงทำให้เกิดเส้นเลือดขอดที่ขา ปกติจะหายเองภายใน 3 เดือนหลังคลอด
  • หลอดเลือดขอดพบได้ 12% ของประชากรในประเทศตะวันตก อาจเกิดจากการรับประทานอาหารของท้องถิ่น
  • กรรมพันธุ์ การมีประวัติคนในครอบครัวที่เคยเป็นเส้นเลือดขอดมาก่อน ย่อมมีความเสี่ยงสูง
อาการแสดงของภาวะหลอดเลือดขอด
  • ระยะแรก มักมีอาการปวดน่องหลังจากการนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน แต่สักระยะหนึ่งจะค่อยๆ รู้สึกผ่อนคลายไปเอง
  • ระยะปานกลาง อาการปวดเมื่อยตุบๆ ตามน่อง และจะเริ่มมากขึ้นจนเป็นตะคริว มีอาการบวมที่เท้า เส้นเลือดดำโป่งพองบริเวณขาพับ ผิวหนังบริเวณนั้นหมองคล้ำ อาจมีเส้นเลือดออกตามผิวหนังเพราะเส้นเลือดขอดแตก
  • ระยะเป็นมาก อาการที่น่ากลัวที่สุดคือการแตกของเส้นเลือดขอด มีอาการตกเลือดอาจพบอาการแทรกซ้อนโรคผิวหนัง และแผลเรื้อรังรักษายาก
 เมื่อไรจะต้องไปพบแพทย์
  • เส้นเลือดขอดโป่งพองมาก ผิวหนังแดง และเจ็บ ผิวอุ่น แสดงว่ามีการอักเสบ
  • มีแผลหรือผื่นบริเวณที่เกิดเส้นเลือดขอด
  • ผิวหนังบริเวณที่เกิดเส้นเลือดขอดหนาตัวและมีสีคล้ำ
  • มีเลือดออกจากเส้นเลือดขอด
  • อาการของเส้นเลือดขอดรบกวนคุณภาพชีวิต
  • เส้นเลือดขอดปรากฎอย่างชัดเจน
 การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดขอด

   แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากประวัติและการตรวจร่างกายดูเส้นเลือดขอดที่ท่ายืน ท่านอน ท่านั่ง และแพทย์อาจจะส่งตรวจเพิ่มเติมทางรังสีวิทยา ในรายที่สงสัยว่ามีความผิดปกติของหลอดเลือดดำส่วนลึก เช่น เคยมีประวัติขาบวม หรือมีแผลที่บริเวณข้อเท้า หรือลักษณะที่น่าสงสัยว่าอาจจะเป็นหลอดเลือดขอดที่เป็นแต่กำเนิด

การรักษาโรคหลอดเลือดขอด

การรักษาหลอดเลือดขอดมีหลายวิธี แพทย์จะแนะนำแนวทางรักษาเส้นเลือดขอดโดยพิจารณาจากอาการและลักษณะของแต่ละบุคคล ตั้งแต่การให้คำแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งประจำที่อยู่นานๆ ควบคุมน้ำหนักตัว และหมั่นออกกำลังกายด้วยการเดิน เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบน่อง สำหรับในบุคคลที่มีอาการเส้นเลือดขอดเกิดขึ้นแล้วนั้น มีวิธีที่สามารถรักษาให้หายได้หลายวิธี แต่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

  • การฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด ทำให้เกิดการแข็งตัวและตีบตัน ตัดการไหลเวียนของหลอดเลือด เหมาะกับหลอดเลือดขอดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร หรือในกรณีทำการผ่าตัดรักษาหลอดเลือดขอดไปแล้ว แต่ยังมีหลอดเลือดขอดเล็กๆ หลงเหลืออยู่
  • การใช้เลเซอร์ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมจะใช้รักษาเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก โดยจะส่งพลังงานเข้าไป
  • ทำลายเส้นเลือดขอด ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและไม่เจ็บตัวมาก  
  • ใส่ถุงน่องทางการแพทย์หรือการพันผ้ายืด  ถุงน่องจะช่วยพยุงกล้ามเนื้อตรงที่เป็นเส้นเลือดขอด มักจะให้ใส่หลังจากได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นกระชับ ป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอดซ้ำ
  • การผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดออก  เหมาะกับเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ เส้นเลือดที่มีปัญหาแทรกซ้อน 
  • และในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการรักษา “เส้นเลือดขอด” ด้วย Radiofrequency (RF) ถือเป็นหัตถการที่ถูกคิดค้นขึ้นมารักษาเส้นเลือดขอดที่ขา (Varicose veins) เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัด โดยใช้สายสวนสอดเข้าไป และทำให้เกิดความร้อน โดยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency) พลังงานความร้อนจะทำให้เส้นขอดที่มีปัญหาหดตัว ซึ่งร่างกายจะตอบสนองโดยทำให้เส้นเลือดขอดนั้นตีบและอุดตันไปในที่สุด  ไม่ต้องผ่าตัด แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว
การดูแลตัวเองให้ห่างไกลปัญหาเส้นเลือดขอด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • สลับการสวมรองเท้าส้นเตี้ย เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด 
  • ให้ยกขาสูงครั้งละ10-15 นาที วันละ 3-4 ครั้งโดยยกสูงระดับหน้าอก หรือยกขาสูงเมื่อนอนหรือนั่ง
  • งดการนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานานๆ
  • หลีกเลี่ยงการใส่กางเกงที่ฟิตๆ หรือสวมใส่ชุดที่รัดเกินไป
  • ลดอาหารเค็ม และรับประทานผักผลไม้ให้มากเพื่อป้องกันอาการบวม
  • ถ้าหากต้องนั่งหรือยืนเป็นเวลานานให้ลุกเดินทุกชั่วโมง และขณะนั่งให้บริหารข้อเท้าตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกาสลับกัน เหยียดเท้าและกระดกเท้าทำสลับกัน

ขอบคุณข้อมูล
นพ.สมบูรณ์ ทรัพย์วงศ์เจริญ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทั่วไปและผ่าตัดเส้นเลือดขอด
คลินิกศัลยกรรมหลอดเลือดเฉพาะทาง และศูนย์รักษาโรคหลอดเลือดครบวงจร