ความสำคัญ
ระบบทางเดินปัสสาวะ จะประกอบด้วยไตทั้ง 2 ข้าง ต่อลงมาสู่ท่อไตจะเป็นกระเพาะปัสสาวะระบบทางเดินปัสสาวะ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบนและส่วนล่าง ส่วนบนจะประกอบด้วยไตและท่อไต ส่วนล่างจะเป็นกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะและหูรูด
ซึ่งทั้ง 2 ส่วนจะทำงานแตกต่างกันไปส่วนบนจะกรองของเสียจะได้เป็นน้ำปัสสาวะออกมา และต่อมาก็จะไหลลงมาสะสมไว้ที่กระเพาะปัสสาวะในระดับที่พอดี และเมื่อเต็มแล้วร่างกายก็จะมีการขับปัสสาวะออกมาให้หมด ซึ่งสังเกตได้ว่าอวัยวะทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบางเดินปัสสาวะนั้นมีความสำคัญและทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป
อาการผิดปกติ
★ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะบ่อย เมื่อปวดแล้วต้องรีบเข้าห้องน้ำ
★ ปัสสาวะไม่สุด บางคนถึงกับปัสสาวะไม่ออกเลยก็ได้ อาการเหล่านี้อาจจะเกิดการอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งผู้ป่วยต้องมาเข้ารับการตรวจเบื้องต้นโดยการตรวจน้ำปัสสาวะ หรือตรวจอย่างละเอียดโดยการส่องกล้องในระบบทางเดินปัสสาวะ
โรคที่พึงระวัง..ของระบบทางเดินปัสสาวะ
1. กลุ่มของการติดเชื้อ สำหรับโรคในกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่ไตลงมา เช่น โรคกรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะ อักเสบซึ่งจะพบมาในผู้หญิง สาเหตุจะแตกต่างกันออกไปแต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากการดื่มน้ำน้อย การกลั้นปัสสาวะ จนเป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบและอาจจะเป็นนิ่วได้ในที่สุด
2. กลุ่มของเนื้องอกหรือมะเร็ง ถ้าในส่วนของไตข้างบนก็จะเป็นมะเร็งที่เนื้อไตกรวยไตหรือท่อไต ในกลุ่มนี้คนไข้บางคนจะไม่มีอาการ แต่บางคนอาจจะปัสสาวะเป็นเลือด หรือสีน้ำล้างเนื้อซึ่งถ้ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ต้องรีบมาตรวจ
- ในส่วนของผู้ชายมักจะมีปัญหาของต่อมลูกหมากร่วมด้วย ซึ่งจะแบ่งได้ 2 ประเภท
-
- ต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยชาวไทยส่วนมากจะพบว่าเป็นต่อมลูกหมากโตธรรมดา
-
- มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งชนิดนี้ถือว่าเป็นโรคของระบบทางเดินปัสสาวะชนิดหนึ่ง
-
3. กลุ่มของการปัสสาวะผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการทำงานที่ไม่สัมพันธ์กันของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างได้แก่ กระเพาะปัสสาวะและหูรูด ส่วนใหญ่จะมีอาการปัสสาวะเล็ดการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือปัสสาวะบ่อยคนไข้ส่วนใหญ่ที่มาตรวจ จะพบในกลุ่มนี้มากที่สุดอาจจะเกิดจากไอจามเรื้อรัง หรืออุ้งเชิงกรานมดลูกหย่อนยาน
ดูแลสุขภาพอย่างไร..ห่างไกลโรคระบบทางเดินปัสสาวะ
- 1. พยายามอย่ากลั้นปัสสาวะ อย่างเด็ดขาด เพราะการกลั้นปัสสาวะไว้นานจะเป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้เชื้อแบคทีเรียฟักตัวอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานขึ้น ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการอักเสบขึ้น และควรดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณ 6 - 8 แก้วต่อวัน (ตั้งแต่เช้าถึงเข้านอน)
- 2. หมั่นรักษาความสะอาด บริเวณช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และทวารหนัก ในผู้หญิงควรรักษาอาการตกขาวให้หายขาด เพราะอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้ออักเสบได้
- 3. หลังการถ่ายอุจจาระควรทําความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้นําเชื้อโรคเข้าสู่ท่อปัสสาวะได้
- 4. ผู้ที่มีการอักเสบบ่อยๆ เรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้ตรวจหาสาเหตุแอบแฝงอื่นๆที่ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย เช่น นิ่ว กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ จากระบบประสาทควบคุม หรือมีการอุดตันในระบบปัสสาวะ
- 5. หากมีอาการปัสสาวะบ่อย ครั้งละน้อย ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน หรือปัสสาวะไม่ออกต้องรีบไปพบ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะทันที
ข้อมูลโดย นพ.ทวีพงษ์ เหลืองอ่อน ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ