ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์

ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์

  1. ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์  คืออะไร?
  2.    คือ ภาวะที่สตรีตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทหรือสูงกว่า เป็นภาวะแทรกซ้อนที่่กิดขึ้นในสตรีตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของสตรีตั้งครรภ์

  3. สาเหตุเกิดจากอะไร?
  4.      เชื่อว่าเป็นผลจากการหดรัดตัวของหลอดเลือดแดง จึงเกิดมี ความดันโลหิตสูง ตามมา หากมีความรุนแรงมากขึ้น อาจมีผลทำลายเนื้อเยื่อที่สำคัญร่วมด้วย ได้แก่ ตับ, ไต, สมอง นอกจากนี้ยังมีผลทำให้เลือดที่ผ่านรกไปยังทารกลดลง ส่งผลให้ทารกได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ
  5. สตรีตั้งครรภ์รายใดที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้?
  6.      ภาวะนี้สามารถเกิดได้ในสตรีตั้งครรภ์ทุกคน โดยมีปัจจัยบางประการที่เพิ่มความเสี่ยง ได้แก่
  7. - สตรีตั้งครรภ์แรก
  8. - การตั้งครรภ์แฝด 
  9. - สตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
  10. - มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตสูง
  11. - อ้วน 
  12. มีผลกระทบอย่างไรต่อการตั้งครรภ์?
  • ผลต่อสตรีตั้งครรภ์    :  อาจเกิดอาการชัก เลือดออกในสมอง รกลอกตัวก่อนกำหนด หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้ภาวะของโรครุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ผลต่อทารกในครรภ์  :  เนื่องจากภาวะนี้ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ผ่านรกมายังทารกลดลง ดังนั้นจึงอาจทำให้ทารกโตช้าผิดปกติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตในครรภ์ได้
  1. ภาวะโรคความดันสูงในคนท้อง นี้มีอาการนำมาก่อนหรือไม่?
  2.      บางรายอาจมีภาวะบวมตามมือ และหน้า หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนำมาก่อน อย่างไรก็ตามบางรายอาจไม่มีหรืออาการไม่แน่ชัด ดังนั้นจึงควรมาตรวจครรภ์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด เพื่อรับการวินิจฉัยและดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ หากเกิดภาวะดังกล่าวขึ้น
  3. อาการที่บ่งว่าสภาวะของโรครุนแรงขึ้น และต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที?
  4. - ปวดศีรษะมาก
  5. - ตามัว
  6. - จุกแน่นลิ้นปี่
  7. - ปวดเกร็งท้อง เลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจเป็นอาการแสดงของรกลอกตัวก่อนกำหนด
  8. - ลูกดิ้นน้อยลง
  9. แนวทางการดูแลรักษา?
  10.      แพทย์อาจจะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล เพื่อตรวจติดตามภาวะของโรคและสุขภาพของทารกได้อย่างใกล้ชิด หลักการรักษาภาวะนี้ขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรคและอายุครรภ์ หากการตั้งครรภ์ครบกำหนด หรือภาวะของโรคมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น แนวทางการรักษา คือ ยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งบางรายอาจจำเป็นต้องผ่าตัดคลอด อย่างไรก็ตาม หากการตั้งครรภ์ยังไม่ครบกำหนดและภาวะของโรคยังสามารถควบคุมได้ อาจพิจารณาดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปภายใต้การดูแลของแพทย์
  11. การตรวจติดตามหลังคลอด?
  12.      ความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะนี้อาจมิได้ลดลงตามปกติทันทีหลังคลอด จึงจำเป็นต้องมาตรวจติดตามวัดความดันโลหิตหลังคลอดตามแพทย์นัด โดยทั่วไปความดันโลหิตสูงจากภาวะนี้ควรกลับสู่ปกติอย่างช้าไม่เกิน 12 สัปดาห์หลังคลอด หากความดันโลหิตคงสูงอยู่นานกว่านี้ อาจถือว่าสตรีรายนี้มีความดันโลหิตสูงเรื้อรังมาก่อน ซึ่งควรได้รับการดูแลจากอายุรแพทย์ต่อไป
  13. จะเกิดซ้ำในครรภ์ถัดไปหรือไม่?
  14.      มีโอกาสเกิดซ้ำได้ในครรภ์ถัดไป และมีโอกาสที่โรคจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
  15. สามารถป้องกันภาวะนี้ได้หรือไม่?
  16.      ในปัจจุบันมีงานวิจัยสนับสนุนการใช้ยาในการป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงขณะตั้งครรภ์ซึ่งได้ผลดี ดังนั้นสตรีตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้รับการประเมินความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ และดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

พญ.พัชราภรณ์ วงศาโรจน์
สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์