มะเร็งรังไข่ เกิดจากการที่เซลล์มะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรังไข่ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ผลิตไข่และผลิตฮอร์โมนเพศหญิง และเป็นภัยเงียบที่มักไม่มีอาการที่เฉพาะเจาะจงในระยะแรก แต่หากตรวจภายในเป็นประจำทุกปีและพบมะเร็งรังไข่ได้เร็วตั้งแต่ระยะต้นก็มีโอกาสรักษาให้หายได้มากกว่ารอจนมีอาการแล้วมาตรวจ
รู้หรือไม่? มะเร็งรังไข่ร้ายกว่าที่คิด!
แม้ว่า “มะเร็งรังไข่” จะไม่ได้เป็นโรคที่พบได้มากที่สุดของผู้หญิง แต่ก็ไม่ควรมองข้าม
- จากข้อมูลทั่วโลก มะเร็งรังไข่พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งสตรี รองจากมะเร็งเต้านม แต่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในบรรดามะเร็งนรีเวช
- พบในหญิงไทยมากเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ในแต่ละปีพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 2,700 ราย และมีผู้ป่วยถึงร้อยละ 53 เสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่
- หากตรวจพบมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ระยะที่ 1 จะมีอัตราการรักษาหายจากโรคสูงถึงร้อยละ 90
- ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วย ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ระยะที่ 3-4 แล้ว
มะเร็งรังไข่
ความรุนแรงของมะเร็งรังไข่จะขึ้นอยู่กับประเภทของเซลล์และระยะของโรค แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
- มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ (Epithelial ovarian tumors) เกิดจากเซลล์ผิวของรังไข่ เป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ เช่น Serous และ Mucinous carcinoma
- มะเร็งเซลล์สืบพันธุ์ (Germ cell tumors) อาจเกิดจากเซลล์ที่ผลิตไข่ มักพบได้น้อย ส่วนมากพบในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี
- มะเร็งเนื้อเยื่อรังไข่ (Sex Cord Stromal tumors) เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมน Estrogen และ Progesterone พบได้น้อยมาก แต่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรก
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งรังไข่
ปัจจุบันมะเร็งรังไข่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น
- มีประวัติคนในครอบครัวโดยเฉพาะมารดา พี่สาว/น้องสาว หรือลูกสาวเคยเป็นมะเร็งรังไข่
- อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
- หมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปี
- ยังไม่เคยตั้งครรภ์/ คลอดบุตร
- มีประวัติสุขภาพเคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งลำไส้
หากมีอาการเหล่านี้พบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่ม
- รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือปวดท้อง
- คลื่นไส้ เบื่ออาหาร
- ท้องเสีย ท้องผูก
- ปัสสาวะบ่อย
- ท้องโตผิดปกติ
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งรังไข่
การตรวจภายในและการตรวจอัลตร้าซาวด์ สามารถบอกลักษณะความผิดปกติของรังไข่ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น สำหรับการตรวจค่าบ่งชี้มะเร็ง ได้แก่ การตรวจค่าเลือด CA125, HE4 ส่วนมากใช้ในการตรวจติดตามตัวโรคระหว่างการรักษาและหลังการรักษา ไม่ได้นำมาใช้ในการวินิจฉัย
การเข้ารับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองมะเร็งนรีเวช สามารถลดความเสี่ยงการเกิด “มะเร็งรังไข่” ได้
การรักษามะเร็งรังไข่
การรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ชนิดของมะเร็ง ความรุนแรงของโรค อายุและสุขภาพของผู้ป่วย โดยแพทย์จะประเมินแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาหลักสามารถทำได้โดย
- การผ่าตัด สามารถทำได้ทั้งทางหน้าท้องและการผ่าตัดผ่านกล้อง แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อกำหนดระยะของโรค และผ่าตัดนำเอาก้อนมะเร็งและอวัยวะข้างเคียงบางส่วนออกด้วย
- การใช้เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาในการทำลายเซลล์มะเร็ง เคมีบำบัดมีอยู่หลายรูปแบบ แพทย์จะพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย
การป้องกันมะเร็งรังไข่
แม้มะเร็งรังไข่จะเป็นภัยเงียบที่มักจะไม่แสดงอาการและตรวจพบได้ยากในระยะแรก แต่หากผู้หญิงทุกคนตรวจภายในและเข้าพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี สามารถลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งรังไข่ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อวางแนวทางรักษาอย่างตรงจุด
อย่าละเลยการตรวจภายในทุกปีและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวช เพราะ “มะเร็งรังไข่”...รู้ทัน ป้องกันง่ายกว่าการรักษา
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ หมั่นสังเกตุความผิดปกติในร่างกาย และตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอทุกปี หากพบเร็วก็สามารถรักษาให้หายได้ โดยสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวช ได้ที่ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชและมะเร็งทางนรีเวช โรงพยาบาลนนทเวช พร้อมให้บริการและการรักษาที่มีมาตรฐาน ครอบคลุมทุกโรคของสตรี โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนรีเวช
คำถามที่พบบ่อย
FAQs
Q: มะเร็งรังไข่ให้คีโมกี่ครั้ง?
A: การใช้เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาทำลายเซลล์มะเร็ง เคมีบำบัดมีอยู่หลายรูปแบบ แพทย์จะพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย
Q: มะเร็งรังไข่น่ากลัวไหม?
A: มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งทางนรีเวชชนิดร้ายแรง และสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยมากที่สุดก็ว่าได้ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีความเกี่ยวข้อง เช่น
- มีประวัติคนในครอบครัวโดยเฉพาะมารดา พี่สาว/น้องสาว หรือลูกสาวเคยเป็นมะเร็งรังไข่
- อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
- หมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปี
- ยังไม่เคยตั้งครรภ์/ คลอดบุตร
- มีประวัติสุขภาพเคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งลำไส้
Q: มะเร็งรังไข่ระยะสุดท้ายอยู่ได้นานแค่ไหน?
A: ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยและระยะของโรคมะเร็งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เพราะมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้ายมักแพร่กระจายและลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ผู้ป่วยระยะนี้มักมีอาการค่อนข้างหนัก ยากที่จะรักษาให้หายขาด อาจต้องทำการรักษาแบบประคับประคอง ถือเป็นภัยเงียบที่ควรได้รับการป้องกัน ดีกว่าการตรวจพบและรักษาในระยะลุกลาม
อ้างอิง : บทความเรื่อง “มะเร็งรังไข่” มะเร็งทางนรีเวชภัยร้ายที่ผู้หญิงควรรู้
https://www.nonthavej.co.th/ovarian-cancer-1.php
นายแพทย์ศุภชัย เรืองแก้วมณี
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งทางนรีเวช และการผ่าตัดผ่านกล้อง
ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชและมะเร็งทางนรีเวช โรงพยาบาลนนทเวช