“มะเร็งรังไข่” เป็นมะเร็งทางนรีเวชชนิดร้ายแรง และสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยมากที่สุดก็ว่าได้ ปัจจุบัน “มะเร็งรังไข่” ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีความเกี่ยวข้อง เช่น
- • มีประวัติคนในครอบครัวโดยเฉพาะมารดา พี่สาว/น้องสาว หรือลูกสาวเคยเป็นมะเร็งรังไข่
- • อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- • มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
- • หมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปี
- • ยังไม่เคยตั้งครรภ์/ คลอดบุตร
- • มีประวัติสุขภาพเคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งลำไส้
อาการแสดงของ “มะเร็งรังไข่” ในระยะแรกมักจะไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน แต่หากคุณผู้หญิงมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม
- • รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง
- • ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือปวดท้อง
- • คลื่นไส้ เบื่ออาหาร
- • ท้องเสีย ท้องผูก
- • ปัสสาวะบ่อย
- • น้ำหนักเพิ่มหรือลดลงผิดปกติ
- • ท้องโตผิดปกติ
การเข้ารับการตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งจะสามารถทำให้เราลดความเสี่ยงของการเกิด “มะเร็งรังไข่” ได้
การตรวจวินิจฉัย “มะเร็งรังไข่” การตรวจภายในและการตรวจอัลตร้าซาวด์ จะทำให้สามารถบอกถึงลักษณะความผิดปกติของรังไข่ได้ตั้งแต่ระยะต้น สำหรับการตรวจค่าบ่งชี้มะเร็ง ได้แก่ การตรวจค่าเลือด CA125, HE4 ส่วนมากใช้ในการตรวจติดตามตัวโรคระหว่างการรักษาและหลังการรักษา ไม่ได้นำมาใช้ในการวินิจฉัย
การรักษา “มะเร็งรังไข่” แพทย์จะเป็นผู้ประเมินแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาหลักสามารถทำได้โดย
- • การผ่าตัด สามารถทำได้ทั้งทางหน้าท้องและการผ่าตัดผ่านกล้อง แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อกำหนดระยะของโรค และผ่าตัดนำเอาก้อนมะเร็งและอวัยวะข้างเคียงบางส่วนๆ ออกด้วย
- • การใช้เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาในการฆ่าเซลล์มะเร็ง เคมีบำบัดมีอยู่หลายรูปแบบ แพทย์จะพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย
ขอบคุณข้อมูล : นายแพทย์ศุภชัย เรืองแก้วมณี
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งทางนรีเวช และการผ่าตัดผ่านกล้อง
โรงพยาบาลนนทเวช