เช็คซิ! ลูกแค่ซนหรือสมาธิสั้น

เช็คซิ! ลูกแค่ซนหรือสมาธิสั้น

ความซนกับเด็กเป็นของคู่กัน ในสายตาพ่อแม่อาจมองเป็นเรื่องปกติ แต่รู้หรือไม่? ถ้าเด็กซนมากเกินไป อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ไม่มีสมาธิจนมีผลกระทบต่ออารมณ์ การเรียน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อาจกำลังเป็นโรคสมาธิสั้นก็ได้นะ
ทำความรู้จักกับ…โรคสมาธิสั้น

   โรคสมาธิสั้น คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสมาธิอย่างเดียว จริงแล้วเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า เป็นโรคทางสมองที่ทำให้เด็กควบคุมตัวเองได้ไม่ดี ส่งผลให้เด็กซน วอกแวก หรือไม่อยู่นิ่ง เกิดผลกระทบต่อตัวเองและคนรอบข้าง มักพบในเด็กผู้ชายได้มากกว่าเด็กผู้หญิงเพราะโดยธรรมชาติเพศชายมีพลังเยอะกว่า ส่วนเด็กผู้หญิงมักพบว่ามีอาการเหม่อลอยมากกว่า

เมื่อไร? เข้าข่ายเป็นโรคสมาธิสั้น
  • ซนอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) ต้องการปลดปล่อยพลังอยู่ตลอดเวลา
  • เหม่อลอย (Inattention) เรียกชื่อแล้วไม่หัน ฟังไม่รู้เรื่อง ถามตอบไม่เข้าใจ
  • ใจร้อน รอคอยไม่ได้ ชอบพูดแทรก หรือหุนหันพลันแล่น (Impulsiveness)

   ถ้ามีอาการครบ 3 อย่างนี้อาจเข้าข่ายสมาธิสั้นหรืออาจมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งและดูภาพรวมว่าอาการเหล่านี้กระทบต่อพัฒนาการของเด็กหรือไม่ เช่น ใจร้อนจนอาจทำให้อารมณ์โกรธรุนแรง หรือเหม่อลอยจนทำงานไม่เสร็จ และไฮเปอร์คืออยู่ไม่นิ่งจนรบกวนคนรอบข้าง พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตุอาการในสิ่งแวดล้อมต่างๆ

การวินิจฉัย

   ก่อนแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นจะต้องมีการสังเกตอาการ รวบรวมประวัติหลายอย่าง ติดตามในหลายกรณีว่ามีผลกระทบต่อเด็กและคนรอบข้างอย่างไรบ้าง รวมทั้งดูที่อายุเป็นหลักด้วยเพราะเด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบจะมีสมาธิสั้นตามวัยอยู่แล้วแต่อาการจะชัดขึ้นในเด็กอายุ 7 ขวบขึ้นไปเพราะเด็กวัยนี้จะเริ่มควบคุมตัวเองได้

 

  • 1. ตรวจเรื่องพัฒนาการสมวัย (ไม่เกี่ยวกับ IQ หรือศักยภาพสมอง) คือ การตรวจพัฒนาการเด็กตามวัยว่าควรทำอะไรได้บ้าง สังเกตอาการ การปรับตัว และการควบคุมตัวเองในสถานที่ต่างๆ เช่น ห้องตรวจ โรงเรียน บ้าน เพราะเด็กสมาธิสั้นจะไวต่อสิ่งเร้า เวลาเจอกับสิ่งแปลกใหม่หรือไม่คุ้นเคยมักยากที่จะหยุดยั้งตัวเองไม่ให้เปิดดู สัมผัส หรือค้นหาได้
  • 2. ประเมินสถานการณ์ของเด็ก สิ่งแวดล้อมและการใช้สมองที่ส่งผลต่อการเกิดสมาธิสั้นเทียม ประเมินจาก 4 หลัก (2 น้อยและ 2 มาก) คือ 
    • นอนน้อย นอนไม่พอ หรือนอนดึก จะมีภาวะสมาธิสั้นเทียม ภาวะอดนอนเรื้อรัง 
    • ออกกำลังกายน้อย ไม่ค่อยได้ขยับตัว 
    • อยู่กับหน้าจอมากเกินไป โดยเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบควรหลีกลี่ยงการดูหน้าจอมือถือ แท็บเล็ต โทรทัศน์ ถึงแม้เด็กจะได้เรียนรู้การฟังจากสื่อต่างๆ แต่จะส่งผลให้พัฒนาการล่าช้าในด้านอื่นๆ  
    • เครียดมาก ใจลอย ฟุ้งซ่าน
โรคสมาธิสั้นส่งผลต่อเด็กอย่างไร

   โรคสมาธิสั้นนั้นมีผลต่อการควบคุมตัวเองส่งผลกระทบต่อเด็กในปัจจุบันและทำให้ขาดการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวคนรอบข้าง  หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม พฤติกรรมนี้จะติดตัวเด็กไปจนโตและเกิดผลเสียในอนาคต 

  • ศักยภาพการเรียนรู้ทางวิชาการไม่ค่อยดี เช่น เมื่อเด็กมีอาการเหม่อลอย ทำงานไม่เสร็จ สะเพร่า หรือเรียนไม่ค่อยดี
  • มีผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของลูก เช่น เด็กซน ใจร้อนมักถูกพ่อแม่ดุทำให้มีพฤติกรรมด้านลบและกลายเป็นเด็กดื้อ เกเร ทำอะไรก็ไม่ถูกใจครู เด็กบางคนไม่อยากไปโรงเรียน พยายามเรียนก็ไม่เข้าใจ จะขาดความภาคภูมิใจหรือความมั่นใจในตัวเองและอาจส่งผลให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้​
อาการหนักแบบไหนควรรีบปรึกษาแพทย์!
  • ทำลายข้าวของ
  • ทำร้ายตัวเอง
  • ทำร้ายผู้อื่น

ถ้าเด็กมีอาการเข้าข่าย 3 อย่างนี้ถือว่ามีปัญหาทางด้านพฤติกรรม อารมณ์และการปรับตัว แนะนำให้รีบมาปรึกษาแพทย์ไม่ว่าจะสงสัยเรื่องสมาธิสั้นหรือพฤติกรรมอื่นๆ

หากเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นแล้วไม่รักษาจะเป็นอย่างไร 

   ในกรณีของเด็กเองส่วนหนึ่งมีผลต่อการพัฒนา Self-Esteem คือ การเห็นคุณค่าในตัวเองหรือความมั่นใจในตัวเอง เด็กจะกังวลว่าเรียนได้หรือเปล่าทั้งๆ ที่พอโตขึ้นถึงมัธยมจะเริ่มเรียนรู้เรื่องแล้วแต่กลายเป็นไม่มั่นใจในตัวเอง มีงานวิจัยในประเทศไทยพบว่าเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นแล้ว แต่ขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทางทีมวิจัยได้โทรกลับไปสอบถามพ่อแม่อีก 5 ปีต่อมาพบว่าพ่อแม่ของเด็กเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว คือมีผลกระทบกับครอบครัวด้วยเพราะเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะอยู่ไม่นิ่ง บางครั้งจะเรียนไม่ได้ ดังนั้นพ่อแม่อาจรู้สึกว่าต้องหาวิธีช่วยเหลือและถ้าแก้ไม่ตรงจุด ไม่เข้าใจลูก จะเกิดความคับข้องใจ อึดอัด หรือเหนื่อยล้าสะสมในการดูแลเด็กจนกระทั่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี เลี้ยงลูกให้ดีไม่ได้ ส่วนหนึ่งแพทย์ที่รักษาเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นมักจะต้องดูแลรักษาพ่อแม่ไปด้วย

ดูแลอย่างไรหากลูกเป็นโรคสมาธิสั้น
  • 1. เข้าใจสมองของเด็กสมาธิสั้นแบบซนจะเคลื่อนไหวเร็วซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเพราะเด็กจะมีความคิดหลากหลาย พลังความคิดเยอะ เหมือนรถเครื่องยนต์แรงแต่เบรคไม่ค่อยดี พูดมาก เล่นสนุก เสียงดัง ทำอะไรเร็วไม่ค่อยระวังทำให้ควบคุมตัวเองยากจึงต้องมีการฝึกฝนเพราะไม่มีทางลัดในการควบคุมนี้ 
  • 2. ฝึกซ้ำย้ำทวนจากชีวิตประจำวัน ฝึกทีละนิด ให้ทำทีละอย่างเป็นขั้นตอน แบบค่อยเป็นค่อยไป สั้น กระชับ ชัดเจน และทำตัวอย่างให้เห็นภาพจนกว่าเด็กทำได้ทีละอย่าง เหมือนการแปรงฟันตอนตื่นนอนที่ไม่ต้องคิดเลยว่าจะต้องแปรงฟัน 
  • 3. เข้าเรียนตามวัย คือ เด็กที่เข้าเรียน ป.1 อายุที่เหมาะสมคือ 6 – 7 ขวบ ซึ่งในปัจจุบันเด็กเข้าเรียนเร็วเกินไป บางคน 5 ขวบกว่าก็เข้าเรียนป.1 แล้ว เด็กเรียนเร็วก็เหมือนชกมวยข้ามรุ่น ส่วนหนึ่งพ่อแม่ต้องเข้าใจความพร้อมของพัฒนาการเด็กด้วยเพราะหลายอย่างไม่ควรเร่งรีบ ฝึกไปเรื่อยๆ เด็กจะทำได้เอง เช่น การนับเลข เด็กอายุ 7 ขวบที่เข้าเรียน ป.1 จะพูดตัวเลขตามได้ 6 - 7 หลัก แต่เด็ก 5 ขวบที่เข้าเรียนจะจำได้เพียง 5 หลัก 
  • 4. อย่าใช้เทคโนโลยีเป็นพี่เลี้ยง ควรหลีกเลี่ยงเลี้ยงให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบดูมือถือ แท็บเล็ต เล่นคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีเพราะภาพและเสียงเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้เด็กไม่สามารถจดจ่ออยู่กับกิจกรรมได้ จนเสี่ยงกลายเป็นเด็กสมาธิสั้น 
  • 5. ครู คือผู้ช่วยสำคัญในช่วงเวลาที่เด็กอยู่โรงเรียน ถ้าเด็กเจอครูดี เข้าใจ ใส่ใจ จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่มีสิ่งมากระตุ้นมากเกินไป เช่น ควรให้นั่งเรียนด้านหน้า ประกบเด็กและให้กำลังใจเด็กก็จะทำได้ดี 
  • 6. การรักษาด้วยยาในเด็กขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูของเด็กแต่ละคน โดยยาจะเข้าไปกระตุ้นเซลล์สมองให้หลั่งสารเคมีออกมาในระดับที่ปกติ ช่วยให้เด็กควบคุมตนเองได้และมีสมาธิมากยิ่งขึ้น ซึ่งควรรักษาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ 
  • 7. ชวนทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายเพื่อฝึกสมาธิและการควบคุมตัวเอง เช่น เทนนิส แบตมินตัน ฟุตบอล เทควันโด วาดรูป ระบายสี คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ดูแลอย่างใกล้ชิด คอยให้กำลังใจและช่วยเหลือให้ลูกทำได้สำเร็จ

   แม้การรักษาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้อาการสมาธิสั้นในเด็กดีขึ้นได้ แต่พ่อแม่ก็ยังมีบทบาทสำคัญที่สุดในการช่วยปรับพฤติกรรมของลูก รู้จักการสร้างวินัยในตนเอง และสามารถควบคุมตนเองได้ เพราะยุคนี้เป็นสังคมยุคดิจิทัลที่สื่อและเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต เด็กในยุคนี้จะมีความสามารถในการเรียนรู้สื่อต่างๆ ได้เร็วกว่ารุ่นก่อน ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นมากขึ้น เช่น ติดจอ นอนน้อย เครียดมาก เรียนเร็ว ออกกำลังกายน้อย ซึ่งหากพ่อแม่ดูแลตัวเองดีและมีความสุขก็สามารถเลี้ยงลูกได้ดี มีความสุขและสมดุลยิ่งขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูล

พญ. ตวงพร สุรพงษ์พิวัฒนะ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช