“มะเร็งปากมดลูก”
เป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในบรรดาโรคมะเร็งที่พบในคนไทย เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus)
- การติดเชื้อ HPV โดยส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ HPV ส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูกของผู้หญิงซึ่งเป็นขั้นแรกของการทำให้เกิดโรคมะเร็ง ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปรากฏเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปแล้ว
การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก
- 1. การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วโดยการทำการตรวจภายใน, PAP smear, HPV Test เพื่อหาความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก
- 2. การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อ HPV ทำให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV สาเหตุหลักของ “มะเร็งปากมดลูก”
ชนิดของวัคซีน HPV และประสิทธิภาพในการป้องกัน
วัคซีนป้องกัน HPV มี 2 ชนิด
- 1. HPV แบบ 2 สายพันธุ์ จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV ชนิด 16, 18 และมีสารเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน (ASO4)
- 2. HPV แบบ 4 สายพันธุ์ จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV ชนิด 16, 18 และหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศจาก HPV 6,11
วัคซีนทั้ง 2 ชนิด องค์การอนามัยโลก ให้คำแนะนำว่าสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ตามสายพันธุ์ที่อยู่ในวัคซีน
อายุที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน HPV
แนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้หญิงอายุ 9 - 26 ปี และจะได้ประโยชน์มากที่สุดถ้าฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก นอกจากนั้นยังแนะนำให้ฉีดในผู้ชายอายุตั้งแต่ 11-15 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ HPV เพื่อไม่ให้เป็นพาหะนำเชื้อไปสู่คู่สมรสด้วย และควรได้รับการฉีดในกลุ่มชายรักร่วมเพศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV หงอนไก่ และโรคหูด
การฉีดวัคซีน HPV ควรฉีดให้ครบ 3 เข็ม โดยแบ่งระยะเป็น
- ครั้งแรก อายุ 9 - 26 ปี
- ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1 - 2 เดือน
- ครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งแรก 6 เดือน
อาการข้างเคียงของการฉีดวัคซีน HPV
วัคซีน HPV มีความปลอดภัยสูง ใช้มานานมากกว่า 10 ปี ทั่วโลก ฉีดแล้วมากกว่า 100 ล้านโดส (dose) ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง
สิ่งที่ควรทราบก่อนฉีดวัคซีน HPV
- 1. ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนฉีดวัคซีน
- 2. การฉีดวัคซีน HPV ไม่สามารถป้องกันหูดหงอนไก่ได้ทุกราย
- 3. การฉีดวัคซีน HPV ไม่สามารถกันโรคมะเร็งจากสาเหตุอื่นๆ ได้
- 4. ถ้าติดเชื้อ HPV ก่อนฉีดวัคซีนอาจจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง หรือไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร
- 5. วัคซีน HPV ไม่สามารถรักษามะเร็งปากมดลูกได้ ไม่สามารถรักษาหูดหงอนไก่ได้
- 6. วัคซีน HPV ไม่สามารถป้องกันโรคเริม หรือรักษาโรคเริมได้
คำแนะนำ
- 1. สตรีที่เคยมีบุตรแล้วสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้
- 2. ควรฉีดวัคซีน HPV ให้ตามกำหนดและครบ 3 เข็ม
- 3. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV
นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
17 มิถุนายน 2563