มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากอันดับต้นๆ ของผู้หญิงไทย ภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยเป็นอันดับ 1 และเป็นปัญหาคุกคามสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม
มาทำความรู้จักเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูก
ทำความเข้าใจ...มะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร?
มะเร็งปากมดลูก สาเหตุสำคัญเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) สายพันธุ์เสี่ยงสูง ซึ่งสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงหรือทางเพศสัมพันธ์
โดยเชื้อไวรัสจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อหรือเซลล์ที่ปากมดลูกปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง เเละอาจลุกลามไปบริเวณรอบข้าง เช่น ผนังช่องคลอด ตัวมดลูก เนื้อเยื่อข้างมดลูก ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น ซึ่งมักไม่แสดงอาการในช่วงแรกเริ่ม กว่าเชื้อไวรัสจะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน ประมาณ 5 - 10 ปี
พฤติกรรมเหล่านี้...เสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก”
- มีเพศสัมพันธ์เร็ว ตั้งแต่อายุยังน้อย
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ และมีคู่นอนหลายคน
- สูบบุหรี่หรือคนรอบข้างสูบบุหรี่
ป้องกันก่อนเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก
- 1.ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หาเชื้อไวรัส HPV DNA
- HPV Test HPV DNA และค้นหาเชื้อ HPV ของเซลล์บริเวณปากมดลูก
- 2.การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย ลดความเสี่ยง
- ในการติดเชื้อ HPV สาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
วัคซีนป้องกัน HPV มี 2 ชนิด
- HPV แบบ 2 สายพันธุ์ เป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV ชนิด 16 และ 18
- HPV แบบ 4 สายพันธุ์ เป็นป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV ชนิด 16 และ 18 และหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศจาก HPV 6,11
ใครควรได้รับการฉีดวัคซีน HPV
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถฉีดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยแนะนำให้ฉีดในผู้หญิงอายุ 9 - 26 ปี และวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดหากฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แนะนำผู้ชายควรฉีดตั้งแต่อายุ 11-15 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ HPV และไม่ให้เป็นพาหะนำเชื้อไปสู่คู่สมรส รวมทั้งควรได้รับการฉีดในกลุ่มชายรักร่วมเพศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV หงอนไก่ โรคหูด และมะเร็งทางทวารหนักด้วย
การฉีดวัคซีนแต่ละช่วงอายุ
- อายุ 9-14 ปี ควรฉีดให้ครบ 2 เข็ม
- ครั้งที่ 1 : ฉีดเข็มแรกทันที
- ครั้งที่ 2 : ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 – 12 เดือน
- อายุ 15 ปีขึ้นไป ควรฉีดให้ครบ 3 เข็ม
- ครั้งที่ 1 : ฉีดเข็มแรกทันที
- ครั้งที่ 2 : ฉีดหลังจากเข็มแรก 2 เดือน
- ครั้งที่ 3 : ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน
ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก
- วัคซีน HPV ช่วยลดโอกาสการเกิดโรค แต่ไม่สามารถป้องกันได้ 100% ดังนั้นหลังฉีดวัคซีน HPV ยังจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจภายใน พร้อมทั้งดูแลสุขอนามัยทางเพศตามปกติ
- วัคซีนสามารถป้องกันเฉพาะสายพันธุ์ HPV ที่ฉีด หรือสายพันธุ์ที่ยังไม่ติดเท่านั้น และไม่สามารถรักษาเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่เคยรับไปแล้วได้
จำเป็นต้องตรวจภายในก่อนฉีดวัคซีน HPV หรือไม่?
การตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการค้นหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกในระยะต้น โดยปัจจุบันการตรวจมะเร็งปากมดลูกมีความแม่นยำสูง ทั้งการตรวจทางเซลล์วิทยา (Pap smear, Liquid base cytology) และการตรวจหาไวรัส HPV ที่อาจได้รับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัว เพราะหากได้รับเชื้อ จำเป็นต้องทำการรักษาให้หายก่อนรับการฉีดวัคซีน HPV
หลังจากฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ยังจำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ (ระยะเวลาตามช่วงวัย) หรือตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะวัคซีนสามารถป้องกันเชื้อ HPV ได้เพียงบางสายพันธุ์เท่านั้น
ข้อห้ามสำหรับการฉีดวัคซีน HPV
- ผู้ที่ภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) ต่อสารประกอบในวัคซีน
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีอาการป่วย ติดเชื้อ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหาย
-
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน
- บวมหรือแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน
- มีไข้ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย
- ปวดกล้ามเนื้อ
- หน้ามืด เป็นลม
-
แนะนำผู้หญิงที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป อย่าละเลยการตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV สาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และหากพบความผิดปกติควรพบแพทย์ทันที เพราะรู้ทัน...ป้องกันง่ายกว่าการรักษา
อ้างอิง : บทความ เรื่อง ฉีดวัคซีน HPV สร้างภูมิคุ้มกัน...ลดเสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก”
https://www.nonthavej.co.th/hpv-vaccine.php
นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล
กุมารแพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น
บทความ เรื่อง “มะเร็งปากมดลูก” มะเร็งทางนรีเวชภัยร้ายที่ผู้หญิงควรรู้...
https://www.nonthavej.co.th/cervical-cancer-1.php
นพ.ศุภชัย เรืองแก้วมณี
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวชและการผ่าตัดผ่านกล้อง
ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชและมะเร็งทางนรีเวช