โรคหัวใจนั้นมีความหมายกว้างอาจเป็นได้หลายอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคกล้ามเนื้อหัวใจ, โรคหัวใจ, โรคไฟฟ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น แต่ในความหมายคนทั่วไป มักจะหมายถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่พบบ่อยและเป็นปัญหาในปัจจุบัน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดหัวใจทีมีคราบไขมันมาเกาะสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ที่เรียกเป็น ตะกอนตะกรันในหลอดเลือด (Cholesterol Plague) เป็นเหตุให้หลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น หรือบางครั้งคราบไขมันนี้แตกทำให้ลิ่มเลือดมาอุดตันเฉียบพลัน ที่เรียก หัวใจวายหรือ Heart Attack
หลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน เกิดจากอะไร ?
ปัจจุบันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยจะพบบ่อยช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ยังไม่แน่ใจ แต่ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดโรคมีดังนี้
1.ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้
- อายุ ความเสี่ยงของการเกิดโรคเพิ่มขึ้นตามอายุ
- เพศ เพศชายมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศหญิง แต่เพศหญิงที่หมดประจำเดือนแล้วจะไม่มีความแตกต่างกับเพศชาย
- กรรมพันธุ์ พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นโรคนี้
2.ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้
- ความดันโลหิตสูง
- เบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ขบวนการของหลอดเลือดแข็ง และหนาตัวเกิดเร็วขึ้น
- การสูบบุหรี่
- ภาวะไขมันผิดปกติ คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง ทำให้มีการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งและหนาตัว
- โรคอ้วน ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น นำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน
- ความเครียดทางอารมณ์
- ขาดการออกกำลังกาย
สัญญาณอันตราย เตือนหลอดเลือดหัวใจตีบ ?
- 1.เจ็บแน่นหน้าอก จะเป็นแบบ แน่นๆ หนัก ๆ เหมือนมีอะไรมากดทับ&รัด บริเวณทรวงอกด้านหน้า อาจมีร้าวไป กราม คอ ไหล่ ต้นแขนซ้ายได้ เป็นได้ทั้งตอนอยู่เฉยๆ หรือออกกำลังกาย หรือมีภาวะตึงเครียด อาจมีเหงื่อแตกร่วมด้วย ส่วนอาการเจ็บหน้าอกแบบ จี๊ดๆ แปล๊บๆ เหมือนเข็มแทง หายใจเจ็บ หายใจไม่ออก มักเป็นจากสาเหตุอื่น
- 2.เหนื่อยง่ายกว่าปกติ เทียบกับคนปกติหรือสิ่งที่ตัวเองเคยทำเป็นประจำ ซึ่งไม่เคยเหนื่อย เช่น เคยเดินขึ้นสะพานลอยได้ กลายเป็นเดินขึ้นไม่ไหว ต้องพักก่อน
- 3.วูบ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว เป็นอาการแสดงสำคัญที่ต้องลำดับต่อว่า เป็นโรคหัวใจหรือโรคทางสมอง หรืออื่นๆ
โรคหัวใจไม่มีอาการแสดงเลยได้หรือไม่ ?
มีคนไข้ส่วนหนึ่งที่ไม่มีอาการใดๆ เลย แต่ตรวจพบตอนมาตรวจสุขภาพ หรือบางรายไปออกกำลังกาย อยู่ๆ ก็วูบหมดสติไป ถึงได้รู้ว่าเป็นโรคหัวใจ เพราะฉะนั้น อย่าชะล่าใจว่าสบายดี ไม่เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวาน มีโอกาสไม่แสดงอาการมากกว่าคนปกติ (เพราะเส้นประสาทรับรู้เสียไป / เสื่อมลง ทำให้ความรู้สึกเจ็บน้อยลง หรือชาไม่เจ็บเลย)
จะทราบได้อย่างไรว่า...มีเรามีความเสี่ยงโรคหัวใจในอนาคต ?
การตรวจหาแคลเซียมหรือหินปูนในหลอดเลือดหัวใจคืออะไร ?
CT Calcium Score เป็นการตรวจปริมาณแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ตรวจคัดกรองระดับหินปูนที่เกาะบริเวณหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อประเมินภาวะการอุดตันของหลอดเลือด ก่อนที่จะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง หรือประเมินแนวโน้มโอกาสในการที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต สามารถตรวจได้ทันที ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ใช้เวลาน้อย ไม่เจ็บ ไม่ต้องฉีดสารทึบแสง
ใครบ้างที่ควรตรวจ CT Calcium Score ?
- • ผู้ที่มีอายุมากว่า 45 ปีขึ้นไป
- • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
- • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน และโรคไต
- • ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่
ผลตรวจแบบไหนถึงมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ?
โรคหัวใจ มีวิธีการรักษาอย่างไร ?
- 1.การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
- 2.ใช้ยา เพื่อควบคุมโรคหัวใจหรือปัจจัยเสี่ยง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจ
- 3.การรักษาด้วยหัตถการหลอดเลือดหรือการผ่าตัด ได้แก่
- - การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด
- - การขยายหลอดเลือดหัวใจที่ตีบด้วยบอลลูน
- - การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ
ไขมันในเลือดสูง...กินอะไรดี ?
ภาวะไขมันในเลือดสูง ( Hyperlipidemia ) เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดจากการรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง อันเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะผิดปกติของหลอดเลือดแดงแข็ง ( Altherosclerosis) และหัวใจขาดเลือด (Coronary Heart Disease) ไขมันที่ทำให้เกิดปัญหาและต้องควบคุมการรับประทานอาหาร คือ คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์
คอเลสเตอรอล (รวม) ( Total Cholesterol ) เป็นไขมันจำเป็นชนิดหนึ่งที่ร่างกายต้องการ เพื่อไปสร้างส่วนประกอบของเซลล์ประสาทและสมองสร้างฮอร์โมน วิตามินดี เกลือ และกรดน้ำดีซึ่งช่วยในการย่อยไขมัน ร่างกายสามารถสร้างโคเลสเตอรอลขึ้นได้เองประมาณ 80% โดยสร้างขึ้นและได้รับจากอาหาร เช่น ไข่แดง ตับ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ค่าปกติของคอเลสเตอรอลรวม 0 - 200 mg/dl และคอเลสเตอรอลแบ่งย่อยที่สำคัญอีก 2 ชนิดคือ
1.คอเลสเตอรอลชนิดร้ายหรือ แอล ดี แอล ( LDL-c : Low Density Lipoprotein Cholesterol ) ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลไปสะสมที่เซลล์ส่วนปลาย ไขมันชนิดนี้ร่างกายสร้างขึ้นเองส่วนหนึ่ง และมาจากอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ ค่าปกติของ แอล ดี แอล น้อยกว่า 130 mg/dl
2.คอเลสเตอรอลชนิดดี หรือ เอช ดี แอล ( HDL-c : High Density Lipoprotein Cholesterol ) ทำหน้าที่ขนถ่ายคอเลสเตอรอลที่สะสมอยู่ออกมาทำลาย
ค่าปกติของ เอช ดี แอล มากกว่า 40 mg/dl (ในผู้ชาย )
มากกว่า 50 mg/dl (ในผู้หญิง )
ไตรกลีเซอไรด์ ( Triglyceride ) เป็นไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกาย ส่วนหนึ่งร่างกายสร้างขึ้นเอง อีกส่วนหนึ่งได้รับจากอาหารประเภทไขมันจากพืชและสัตว์ ค่าปกติของไตรกลีเซอไรด์ น้อยกว่า 150 mg/dl
คุมอาหารแบบไหนลดไขมันในเลือด
- 1.รับประทานอาหารที่มีไขมันหรือน้ำมันน้อย โดยเลือกวิธีการหุงต้มแบบ ต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ หรือาหารผัดที่ใช้น้ำมันน้อย
- 2.เลือกน้ำมันพืช ชนิดกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในการประกอบอาหาร (ในปริมาณวันละ2-3 ช้อนโต๊ะ) เช่น
2.1 น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันในกลุ่มนี้เหมาะสำหรับการผัดหรือการใช้ ความร้อนไม่สูงมาก
2.2 น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันในกลุ่มนี้เหมาะสำหรับการทอดหรือความร้อนสูง เพราะทนความร้อนได้ดีกว่า
- 3.ควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ปลาทะเล เต้าหู้เป็นประจำ ช่วยเพิ่มระดับ เอช ดี แอล และช่วยลดระดับแอล ดี แอล ในเลือด
- 4.รับประทานผักและผลไม้ที่ไม่หวานจัดเป็นประจำทุกมื้อและให้หลากหลาย (ผัก ผลไม้ ไม่ควรน้อยกว่า 400 กรัม/วัน)
- 5.หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารที่มีปริมาณไขมันหรือน้ำมันมาก เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ผัดไท ปาท๋องโก๋ กล้วยทอด ทอดมัน
- 6.หลีกเลี่ยงไขมันหรือน้ำมันชนิดกรดไขมันอิ่มตัวสูง (Saturated Fatty Acid ) เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เบคอนน้ำมันหมู น้ำมันไก่ เนยสด กะทิ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว
- 7.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ตับ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง เนย อาหารทะเล(โดยเฉพาะปลาหมึก ปู หอยต่างๆ)
- 8.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานซ์ ( Trans Fatty Acid ) เช่น พาย โดนัท ขนมขบเคี้ยว เนยเทียม มาการีน หรือขนมเบเกอรี่ต่างๆ
- 9.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหวานหรือที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวานชนิดต่างๆ น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ต่างๆ
- 10.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้
- 11.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (องค์การอนามัยโลกแนะนำการออกกำลังกายไม่ควรน้อยกว่า150นาที/สัปดาห์)
- 12.ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ในเกณฑ์มาตรฐาน ( ค่า BMI= 18.5-22.9 )
อ้างอิง
บทความ เรื่อง โรคหัวใจขาดเลือดภัยเงียบใกล้ตัว
https://www.nonthavej.co.th/heart-attack-early-diagnosis.php
นพ.เรย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน
โบชัวร์ เรื่อง อาหารบำบัดภาวะไขมันในเลือดสูง
แผนกโภชนาการ
https://online.fliphtml5.com/gowyy/pnvq/#p=4