โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่หรือช็อกโกแลตซีสต์ เป็นโรคที่พบบ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ สาเหตุหนึ่งที่เชื่อว่าทำให้เกิดโรคนี้ คือ ในช่วงที่มีระดู ตามธรรมชาติ ถ้าไม่มีไข่ที่ปฏิสนธินั้นมาฝังตัวก็ไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดออกมาและมีเลือดประจำเดือนออกจากช่องคลอด เมื่อเลือดระดูหมด เยื่อบุโพรงมดลูกจะหนาตัวขึ้นอีกเพื่อรองรับไข่ที่จะมาฝังในรอบต่อไป ในโรคนี้เชื่อว่าในบางเดือนที่ผ่านมาเลือดประจำเดือนไหลออกมาผ่านปากมดลูกไม่ทัน เลือดส่วนหนึ่งจะเอ่อล้นท่วมไปที่ท่อนำไข่เหมือนน้ำท่วมเขื่อนแล้วล้นออกไป เลือดที่ไหลออกส่วนหนึ่งจะย้อนออกไปที่ท่อนำไข่และตกลงในอุ้งเชิงกราน เยื่อบุโพรงมดลูกที่ลอกหลุดออกมาด้วยจะตกลงในอุ้งเชิงกรานด้านหลังมดลูก ซึ่งต่อมาจะฝังตัวลงบนเยื่อบุช่องท้องและเจริญต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกับเมล็ดพืชที่ลงดินจะฝังรากงอกเจริญต่อไป เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลุกเจริญผิดที่เหล่านี้ เป็นเนื้อเยื่อที่ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผลิตจากรังไข่ ซึ่งเปรียบเหมือนกับปุ๋ยที่ให้กับต้นไม้ ต้นไม้ก็เจริญไปเรื่อยๆ โรคนี้เมื่อถึงวัยหมดระดู อาการต่างๆ จะลดน้อยลงจนหายไป เนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่มาเลี้ยงเหมือนต้นไม้ที่ขาดปุ๋ย ต้นไม้ก็เหี่ยวเฉาตายไป
โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อาจฝังตัวในที่ต่างๆ ในช่องท้อง เช่น ที่รังไข่ ท่อนำไข่ ลำไส้กระเพาะปัสสาวะ เยื่อบุช่องท้อง ตับ กะบังลม หรือนอกช่องท้อง เช่น ไปที่ปอด ที่แผลผ่าตัดคลอดบุตรที่หน้าท้องหรือที่สะดือ ช่วงแรกจะเป็นตุ่มเล็ก เมื่อฝังตัวมากขึ้นจะเกิดปฏิกิริยาอักเสบทำให้เกิดเป็นพังผืดขึ้น ถ้าฝังตัวลึกที่รังไข่ เลือดที่ออกจะขังอยู่ไปไหนไม่ได้ จะสะสมโตขึ้นเป็นซีสต์ เลือดที่สะสมนานเข้าจะข้น สีเหมือนช็อกโกแลต จึงเรียกว่า "ช็อกโกแลตซีสต์"
อาการและความรุนแรงของ ช็อกโกแลตซีสต์ หรือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่ Endometriosis
ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ฝังตัว ได้แก่ อาการปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือน ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องกินยาแก้ปวด กินยามากขึ้น ขาดเรียน ขาดงานบ่อย หรือมีอาการปวดอย่างอื่นร่วมอยู่ด้วยเวลามีประจำเดือน เช่น มีอาการปวดไปหลัง ไปเอว ไปก้นกบ ไปหน้าขา มีอาการท้องอืด ท้องบวม ท้องใหญ่ขึ้น อาจมีถ่ายเหลว ท้องเสีย หรือช่วงมีระดูจะปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระมากกว่าปกติ อาจมีปัสสาวะบ่อยมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงมีประจำเดือน บางรายอาจมีอาการปวดหรือเจ็บที่มดลูกหรือท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือมาด้วยภาวะมีบุตรยาก แต่งงานหลายปีไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ การวินิจฉัยโดยการที่แพทย์ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน เพื่อดูว่ามีตุ่มฝังตัวอยู่หรือไม่โดยเฉพาะด้านหลังมดลูก ในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ยังโสด จะตรวจโดยใช้นิ้วคลำทางทวารหนักเพื่อหาตุ่มที่ฝังตัว ในกรณีที่มีอาการปวดเหมือนโรคนี้แต่ตรวจคลำไม่พบว่ามีตุ่มฝังอยู่ จะนัดผู้ป่วยมาตรวจอีกครั้งในช่วงที่มีประจำเดือน เพราะในช่วงมีระดูตุ่มพวกนี้จะมีเลือดออกทำให้ตุ่มเหล่านี้ตึงโตขึ้นพร้อมกับมีอาการอักเสบเกิดขึ้นจึงตรวจพบได้ดียิ่งขึ้น การตรวจเพิ่มเติมด้วยอัลตราซาวด์ชนิดหัวตรวจทางช่องคลอดจะสามารถดูว่ามีช็อกโกแลตซีสต์หรือมีความผิดปกติอื่นๆ ของมดลูก รังไข่ ปีกมดลูกหรือไม่ เมื่อรอยโรคเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้มีพังผืดไปพันรัดท่อนำไข่ รังไข่ มดลูก ลำไส้ ทำให้มีอาการปวดมากขึ้น รุนแรง เรื้อรัง ทำให้สูญเสียการเจริญพันธุ์ มีบุตรยากได้
การรักษาช็อกโกแลตซีสต์ หรือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่ Endometriosis เมื่อมีอาการและการตรวจพบบ่งถึงโรคนี้ จะพิจารณาการผ่าตัดผ่านกล้องในช่องท้องเพื่อส่องดูว่าโรคเป็นมากน้อยแค่ไหน ตุ่มที่ฝังตรงตำแหน่งใดบ้าง พังผืดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีการให้คะแนนเพื่อแบ่งความรุนแรงของโรค โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ ระดับ 4 เป็นระดับที่รุนแรงมากที่สุด ขณะเดียวกันสามารถผ่าตัดเลาะพังผืด เลาะซีสต์ และจี้ทำลายตุ่มที่ฝังตัวอยู่ ในกรณีที่มีตุ่มฝังตัวอยู่มาก หรือฝังตัวตามลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หลังผ่าตัดจะพิจารณาให้ยารักษาต่อเพื่อให้ตุ่มเล็กๆ ที่ฝังตัวอยู่ฝ่อลงไป
ในกรณีที่ไม่ผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาให้ยารักษาต่อไป ซึ่งโรคนี้เป็น progressive disease จะเจริญฝังตัวมากขึ้นเรื่อยๆ การรักษาด้วยยาจะทำให้ตุ่มเหล่านี้ฝ่อได้แต่พังผืดจะไม่หาย อาการปวดจะลดน้อยลง
ในกรณีที่มีบุตรยาก ควรได้รับการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อการวินิจฉัยและการรักษา ประเมินความรุนแรงของโรคว่าอยู่ระดับไหน พังผืดพันรัดส่วนไหนบ้าง ท่อนำไข่คดงอตีบตันหรือเปล่า ฉีดสีประเมินดูท่อนำไข่ ผ่าตัดแก้ไข เลาะพังผืด เลาะและจี้ทำลายเยื่อบุที่ฝังตัวและวางแผนการรักษาการมีบุตรต่อไป
หลายครั้งที่ไปพบแพทย์แล้วบอกว่าไม่มีความผิดปกติไม่เป็นอะไร ซึ่งอาการของโรคดังกล่าวจากการตรวจร่างกาย ตรวจภายใน ตรวจอัลตราซาวด์อาจจะไม่พบอะไรที่แอบแฝงอยู่ ตรวจหลายครั้งยังมีอาการปวดอยู่ ปวดมากจนบางครั้งเป็นลม จนคนรอบข้างคิดว่ามารยา หรือคิดมาก คิดไปเอง หรือคล้ายคนเป็นโรคประสาท หลายคนอาจหลงไปอยู่คลินิกจิตเวชก็เป็นได้ การตรวจหาสาเหตุต่อไปคือการส่องกล้องเข้าไปในช่องท้องดูว่าภายในอุ้งเชิงกราน จะมีพังผืด มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือไม่
สาวๆหลายคนที่ยังไม่แต่งงานหรือยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ อาจกลัวแพทย์ จนกระทั่งรอยโรคเป็นมาก ทำให้ปวดท้องน้อยเรื้อรังหรือเป็นมากจนอาจต้องตัดมดลูกรังไข่ออก หรืออาจทำให้สูญเสียการเจริญพันธุ์ มีบุตรไม่ได้ สาวๆทั้งหลายไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเรามีวิธีการเทคนิคในการตรวจ ซึ่งไม่ต้องกังวลในเรื่องดังกล่าว
โรคนี้หลังจากการผ่าตัด การักษาด้วยยา รอยโรคและอาการปวดจะดีขึ้น โรคนี้อาจเกิดเป็นซ้ำได้อีก โดยเฉพาะในรายที่เป็นมาก ควรได้รับการติดตามเป็นระยะๆ เมื่อถึงวัยทองโรคนี้จะหายเพราะไม่มีฮอร์โมนจากรังไข่ คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้ตุ่มต่างๆที่ฝังตัวฝ่อลงไป
โดย นพ.ประทีป หาญอิทธิกุล
สูติ-นรีเวช / ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช / มีบุตรยาก
ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (Gynecology Laparoscopic and Hysteroscopic Surgery Center)
ศูนย์ผู้มีบุตรยาก (Infertility Center) โทร. 0-2586 - 7888 ต่อ 7901, 2401, 2402