ในปัจจุบันไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มักมีพฤติกรรมที่ทำให้สุขภาพแย่ลง เช่น นอนดึก สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารรสจัดหรือปิ้งย่างบ่อยๆ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมากขึ้น การออกกำลังกายสม่ำเสมอและทานอาหารที่มีประโยชน์อาจไม่เพียงพอ บางครั้งเราคิดว่าสามารถดูแลสุขภาพได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่โรคต่างๆ อาจกำลังเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
การตรวจสุขภาพประจำปี จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคหรืออาการแอบแฝงของโรคเรื้อรังบางชนิดที่ผู้ป่วยไม่ทราบมาก่อน เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง
หากตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นก็จะสามารถส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางรักษาได้อย่างทันท่วงที ทำให้วางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษามากขึ้น ป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงและลุกลาม หรือสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมาก
รวมทั้งเป็นการเช็คสุขภาพของตัวเองเพื่อความมั่นใจและรับรู้ถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ช่วยให้ตรวจพบโรคต่างๆ ได้ก่อนที่จะมีอาการรุนแรงหรือลุกลาม และมีแนวทางในการดูแลตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้อีกด้วย
การตรวจสุขภาพประจำปี ควรตรวจอะไรบ้าง
การเลือกรายการตรวจสุขภาพประจำปีนั้นจะขึ้นอยู่กับ อายุ เพศ ปัจจัยเสี่ยง และรวมถึงประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว หากต้องการตรวจสุขภาพแบบครอบคลุม ครบครัน รู้เท่าทันโรคร้าย เราขอแนะนำ
● ตรวจวัดความดันโลหิต
● ตรวจหาระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด
● ตรวจหาระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
● ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)
● การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)
● ตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนักเพื่อดูว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่
● ตรวจคักรองมะเร็งเต้านมด้วยดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์
● ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกชนิดพิเศษ Cervical Cancer Screening
● ตรวจดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่โดยการสวนสารทึบรังสีชนิดแป้งแบเรี่ยมหรือลมเข้าทางทวารหนัก (Barium Enema)
● การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Coloscopy)
● ตรวจวัดความสามารถในการมองเห็นและความดันลูกตาโดยจักษุแพทย์
● ตรวจสุขภาพฟัน และช่องปาก โดยทันตแพทย์
● คำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
● ตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone Densitometry)
เลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพแต่ละช่วงวัยอย่างไรดี
การตรวจสุขภาพของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันตามช่วงอายุ เพศ การใช้ชีวิต และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ การตรวจสุขภาพสามารถตรวจได้ทุกเพศตั้งแต่กลุ่มคนวัยทำงานขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ
พร้อมทั้งสังเกตดูว่าควรตรวจอะไรเป็นพิเศษหรือตรวจอย่างไรให้เหมาะสม เพราะสุขภาพของแต่ละคนนั้นมีปัญหาต่างกันออกไป สามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 35 ปี ไปจนถึง 70 ปี โดยตรวจสุขภาพแบบพื้นฐานไปจนถึงตรวจอย่างละเอียดเพื่อให้ตรงกับความต้องการดูแลสุขภาพมากที่สุด
โดยการตรวจโดยทั่วไปที่คนส่วนใหญ่เลือกกัน จะมี การตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจเลือด ตรวจการทำงานของไต ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ แต่สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แพทย์จะแนะนำให้ตรวจสุขภาพอย่างละเอียด
เตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจสุขภาพ
ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพเราควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อให้ได้ผลการตรวจที่ถูกต้องและแม่นยำ ตรงกับความเป็นจริงของสุขภาพในช่วงนั้นมากที่สุด
● ควรงดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 8 - 10 ชั่วโมง
● พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
● ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือดที่ข้อพับแขน
● สำหรับผู้หญิงที่ต้องการตรวจภายใน ควรตรวจหลังมีประจำเดือนอย่างน้อย 1 สัปดาห์
● ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม คือ ช่วงวันที่ 1-7 หลังหมดประจำเดือน
● หากตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ ต้องแจ้งก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่องดตรวจเอกซเรย์
อ้างอิง :
บทความ เรื่อง จำเป็นไหม?...ที่ต้องตรวจสุขภาพประจำปี
น.พ.ศวัสพล คูณชัยพานิชย์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์
ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ (Wellness Center)
https://www.nonthavej.co.th/why-health-checkup.php