โปรแกรมตรวจหาเชื้อแบคทีเรียเอช.ไพโลไร H.Pylori ด้วยวิธีเป่าลมหายใจ (Urea Breath Test)

โปรแกรมตรวจหาเชื้อแบคทีเรียเอช.ไพโลไร H.Pylori ด้วยวิธีเป่าลมหายใจ (Urea Breath Test)

Helicobacter Pylori (H. pylori) คืออะไร ?

   เชื้อ Helicobacter Pylori (H. pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เจอได้ค่อนข้างบ่อยชนิดหนึ่งในร่างกาย โดยถูกค้นพบเมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่แล้ว โดยพยาธิแพทย์ชาวออสเตรเลีย 2 ท่าน ซึ่งได้มีการศึกษาและค้นพบว่า เชื้อตัวนี้มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร  แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น รวมไปถึงสาเหตุที่นำไปสู่ภาวะมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งทางเดินอาหารส่วนต้นได้เช่นกัน

   เชื้อ Helicobacter Pylori (H. pylori) มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารมากกว่าคนปกติทั่วไป 6-40 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากกว่าคนทั่วไป 2-6 เท่า โดยอาศัยอยู่ที่กระเพาะอาหารส่วนปลายในบริเวณเยื่อบุเมือกในชั้นเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น และก็ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ประมาณ 1-3% ในคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องโรคกระเพาะอาหารอักเสบในตลอดระยะเวลาของคนไข้

Helicobacter Pylori (H. pylori) ติดต่ออย่างไร ?

   เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori (H. pylori) จากความชุกของโรค ค้นพบอยู่ที่ประมาณ 50% ของประชากรทั่วไป โดยจะพบอยู่ทางแถบประเทศโซนเอเชียตะวันออกมากกว่าโซนยุโรปและโซนอเมริกา โดยเฉพาะมีงานวิจัยระบุว่าในประเทศไทยมีอุบัติการณ์หรือความชุกของโรคอยู่ที่ประมาณ 58%

   ทั้งนี้อายุที่มากขึ้นจะสัมพันธ์กับการติดโรคที่มากขึ้น ผู้ป่วยชายและผู้ป่วยหญิงมีโอกาสเกิดโรคได้พอๆ กัน การรับเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อจากคนสู่คน โดยการติดต่อกันทางการรับประทานอาหารร่วมกัน จากปากสู่ปาก จากน้ำลายสู่น้ำลาย รวมไปถึงการติดต่อทางการปนเปื้อนจากเชื้ออุจจาระจากการรับประทานอาหารเข้าไปด้วยเช่นกัน

ที่ติดเชื้อ Helicobacter Pylori (H. pylori) มีอาการอย่างไร ?  และใครบ้างที่ควรตรวจ ?

ในผู้ป่วยทั่วๆ ไป บางคนอาจจะเริ่มตั้งแต่ไม่มีอาการเลยก็ได้ จนไปถึงมีอาการแสดงเพียงเล็กน้อย อาการแสดงเริ่มตั้งแต่ ได้แก่

  • ไม่สบายท้อง อาการปวดท้อง แสบท้องในบริเวณใต้ลิ้นปี่
  • ท้องอืด แน่นท้อง จุกเสียดใต้ลิ้นปี่
  • ทานอาหารแล้วรู้สึกอิ่มเร็ว อิ่มง่ายกว่าปกติ
  • เบื่ออาหาร เรอบ่อย รวมถึงมีอาการคลื่นไส้อาเจียนบ่อยผิดปกติ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • มีภาวะโลหิตจางที่สืบค้นแล้วยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
 ​การตรวจหาเชื้อ Helicobacter Pylori (H. pylori)  มีวิธีการอย่างไร ?

การตรวจเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori (H. pylori)  ที่นิยมในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 วิธีหลักๆ ใหญ่ๆ คือการตรวจโดยผ่านการส่องกล้อง และการตรวจโดยไม่ผ่านการส่องกล้อง

“การตรวจโดยวิธีการส่องกล้อง” 

วีธีที่นิยมกันมีอยู่ 2 วิธี คือ

  • วิธีที่ 1 คือ การส่องกล้องเข้าไปดูในกระเพาะอาหาร และการตัดชิ้นเนื้อในกระเพาะอาหารเอามาตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
  • วิธีที่ คือ การตรวจความไว แบบชุดทดสอบแบบรวดเร็ว เรียกว่า Rapid Urea Breath Test

   โดยทั้ง 2 วิธีนี้ มีความแม่นยำในการค้นพบเชื้อได้ค่อนข้างสูง ระหว่าง 95-100% โดยการตรวจแบบชุดทดสอบแบบรวดเร็ว Rapid Urea Breath Test เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว และที่นิยมทำกัน ปัจจุบันในประเทศไทยมี 2 วิธี คือ การตรวจโดยการทดสอบลมหายใจหาเชื้อแบคทีเรีย กับวิธีที่ 2 คือ การตรวจหาเชื้อในอุจจาระคนไข้ ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะแนะนำวิธีการโดยการทดสอบลมหายใจหาเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวก รวดเร็วและทำได้อย่างแม่นยำมากกว่า เนื่องจากการตรวจโดยวิธีการใช้อุจจาระ เป็นวิธีการตรวจที่ค่อนข้างลำบาก ขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก ถึงแม้ว่าทั้ง 2 วิธีนี้จะมีความไวและความจำเพาะใกล้เคียงกันก็ตาม เทียบเท่ากับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจอยู่ที่ประมาณ 95-97% หรือในผู้ป่วยที่ยังไม่อยากส่องกล้อง หรือข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องไม่ชัดเจน แต่ต้องการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori (H. pylori) สามารถทำโดยการใช้วิธีการเป่าทดสอบลมหายใจ หรือทางการแพทย์ เรียกว่า Urea Breath Test หรือ UBT

หากติดเชื้อ เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori (H. pylori)  มีวิธีการรักษาอย่างไร ?

 หลังจากที่ทราบผลจากการตรวจพบเชื้อแล้ว แพทย์จะให้การรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะ ร่วมกับยายับยั้งการหลั่งกรด เป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะนัดคนไข้เพื่อมาทดสอบซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเชื้อแบคทีเรียยังมีเหลืออยู่หรือไม่

ข้อดีของการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori (H. pylori) ด้วยวิธี Urea Breath Test ?
การตรวจโดยการทดสอบลมหายใจ Urea Breath Test เป็นวิธีที่ค่อนข้างง่าย
  • สะดวก รวดเร็ว และใช้เวลาไม่นาน ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัว ไม่มีสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อน
  • ตรวจได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และสตรีมีครรภ์
  • สามารถใช้ในการประเมินการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ความแอคทีฟของตัวโรค
  • ความไวและความจำเพาะของแบบทดสอบค่อนข้างสูงมาก 95-97% เทียบเท่ากับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
การตรวจหาเชื้อ Helicobacter Pylori (H. pylori)  ด้วยวิธีเป่าลมหายใจ (Urea Breath Test) มีวิธีการอย่างไร ?
  • แนะนำให้คนไข้งดยาปฏิชีวนะมาก่อนอย่างน้อย 4 สัปดาห์ รวมถึงงดยายับยั้งการหลั่งกรดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนที่จะมาทดสอบ
  • คืนก่อนหน้าที่จะมาทดสอบ  ให้ผู้ป่วยงดน้ำงดอาหารมาก่อนหลังเที่ยงคืน หรืออย่างน้อย 4 ชั่วโมง ก่อนที่จะมาทดสอบเป่าลมหายใจ
  • ในเช้าวันที่เป่าทดสอบลมหายใจ ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล ทางเจ้าหน้าที่ก็จะให้ผู้ป่วยเป่าลมหายใจตัวเองลงในถุงทดสอบ ใบที่ 1  หลังจากนั้นก็จะเก็บไว้
  • หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยรับประทานยาเม็ดยูเรียเข้าไป พร้อมกับดื่มน้ำ 1 แก้ว (ปริมาณ 100 cc.) (ห้ามนำยาไปบดหรือตำให้ละลายน้ำ หรือละลายเม็ดยาก่อนที่จะรับประทาน)
  • หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยนอนตะแคงด้านซ้ายเป็นเวลาประมาณ 5 นาที จากนั้นให้ลุกนั่งอีกประมาณ 15 นาที 
  • เมื่อครบประมาณ 20 นาที แล้ว ให้ผู้ป่วยรับประทานยาเม็ดยูเรีย และให้เป่าลมหายใจทดสอบลงในถุงใบที่ 2 
  • หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะเก็บถุงทดสอบทั้ง 2 ใบ นำไปเข้าเครื่องวิเคราะห์ทดสอบหาเชื้อ และจะใช้เวลาอีกประมาณ 5 นาที ก็จะทราบผลทันทีหลังจากที่ทดสอบลมหายใจเสร็จเรียบร้อย
 คำแนะนำ ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ดังต่อไปควรจะได้รับการตรวจเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori (H. pylori)  
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติมีแผลในกระเพาะอาหารมาก่อน หรือมีประวัติกระเพาะอาหารอักเสบหรือมีแผลในลำไส้เล็ก
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติการใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์รวมถึงยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือดในระยะยาว ร่วมกับมีประวัติกระเพาะอาหารอักเสบอยู่แล้ว 
  • ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด  MALT lymphoma อยู่ในกระเพาะอาหารและกำลังได้รับการรักษา
  • ผู้ป่วยที่มีอาการโรคกระเพาะอาหารอักเสบหลังได้รับการรักษาด้วยการให้ยายับยั้งการหลั่งกรดโดยแพทย์แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น
  • ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่มีญาติสายตรงป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

ขอบคุณข้อมูล : นพ. อานนท์ พีระกูล
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ

 

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 31 ธ.ค. 2567

@nonthavejhospital