ให้บริการดูแลสุขภาพสตรีที่มีปัญหาเกี่ยวกับเต้านม ไม่ใช่เฉพาะมะเร็งเต้านมเท่านั้น แต่รวมถึงการรักษาผ่าตัด เพื่อเสริมสร้างเต้านมใหม่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดเอาเต้านมออก รวมทั้งการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ (Sentinel Lymph Node Biopsy)
มะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงทั่วโลก และเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย ศูนย์รักษ์เต้านม โรงพยาบาลนนทเวช มีความพร้อมในเรื่องการดูแลเต้านม ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเต้านม ทั้งศัลยแพทย์เต้านม รังสีแพทย์ วิสัญญีแพทย์ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง พยาธิแพทย์ ทีมสหสาขาวิชาชีพเคมีบำบัด และทีมสหสาขาวิชาชีพด้านเต้านม ที่พร้อมให้คำแนะนำในการตรวจค้นหาความเสี่ยงก่อนมีความผิดปกติ ทำให้สามารถพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ การรักษาให้หายจึงมีมากขึ้นตามลำดับ
การบริการ
- 1. การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) เป็นการตรวจเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์พิเศษในการค้นพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ไม่สามารถตรวจพบจากการตรวจร่างกาย จะมองเห็นลักษณะความเข้มทึบที่ต่างกันของเนื้อเยื่อแต่ละชนิด เช่น เนื้อเยื่อเต้านม หลอดเลือด ไขมัน หินปูน หรือกลุ่มแคลเซียมที่เกิดจากมะเร็งท่อน้ำนมในระยะแรก ก้อนเนื้องอกที่มีขนาดเล็ก หรือตรวจติดตามหลังการผ่าตัด
- 2. อัลตราซาวด์เต้านม (Breast Ultrasound) เป็นการตรวจเต้านมโดยรังสีแพทย์และใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของเต้านมในสตรีที่อายุยังน้อยและใช้ตรวจเพิ่มเติมจากการตรวจแมมโมแกรม เพื่อวินิจฉัยแยกก้อนถุงน้ำและยังใช้ตรวจในกรณีเต้านมมีความหนาแน่นสูง
- 3. การตรวจเต้านมเบื้องต้นโดยศัลยแพทย์เต้านม (Breast Examination by Breast Surgeon)
- 4. บริการสอนการตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Self Breast Examination) แบบง่ายๆ มี 2 วิธี
- การตรวจแบบวนเป็นวง (Spiral Method) เริ่มตรวจจากด้านบนของเต้านม โดยใช้มือวนเป็นวงใหญ่ไปให้ทั่วรอบๆ เต้านม เพื่อตรวจหาดูว่ามีก้อนผิดปกติ หรือเนื้อแข็งๆ หรือไม่ จากนั้นวนมือให้เป็นวงเล็กลงไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 3 วง จนถึงหัวนม ทำเช่นนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกลูบเบาๆ และอีกครั้งกดให้แรงขึ้น
- การตรวจแบบแบ่งเป็นตาราง (Grid Method) เป็นการตรวจเต้านม โดยแบ่งพื้นที่บริเวณจากกระดูกไหปลาร้าไปยังส่วนใต้เต้า นมและจากรักแร้ไปยังกระดูกอก เป็นช่องตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในแต่ละช่องเล็กๆ ใช้มือวนไปเป็นวงแบบก้นหอย โดยลูบเบาๆก่อน และกดให้แรงขึ้นอีกครั้ง เลื่อนมือทำเช่นเดิมในช่องถัดไป ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตรวจทั่วเต้านม
- 5. การเจาะดูดเซลล์จากก้อนเต้านมส่งตรวจ (Fine Needle Biopsy) เป็นการเจาะดูดเซลล์จากเต้านมส่งตรวจ โดยแพทย์จะใช้เข็มเล็กๆ แทงไปที่ก้อนที่ต้องการเจาะดูดเซลล์ แล้วนำเซลล์ส่งตรวจทางพยาธิวิทยาดูว่าเป็นเซลล์ปกติ หรือเซลล์มะเร็ง
- 6. การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจโดยไม่ต้องผ่าตัด (Core Needle Biopsy) เป็นการตัดชิ้นเนื้อออกมาพิสูจน์โดยไม่ต้องผ่าตัด เพื่อหาความผิดปกติของชิ้นเนื้อเต้านม การตัดชิ้นเนื้อจะใช้ปืนตัดชิ้นเนื้อแบบอัตโนมัติ(Automatic Biopsy Gun) เมื่อได้ชิ้นเนื้อก็จะนำส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
- 7. การแทงเข็มบอกตำแหน่งในก้อนที่มีขนาดเล็กมาก เพื่อช่วยในการผ่าตัด (Needle Localization Biopsy) เป็นการแทงเข็มเพื่อบอกตำแหน่งก้อนเนื้อ หรือรอยโรคที่ผิดปกติในเต้านม ในกรณีที่คลำไม่ได้ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์เต้านม เพื่อใช้ในการผ่าตัดก้อนเนื้อหรือรอยโรคที่ผิดปกติ สำหรับรอยโรคที่อาจจะเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น
- 8. การผ่าตัดรักษาก้อนเนื้อร้ายที่เต้านม แบ่งการรักษาเป็น 2 ส่วน
- 8.1 การผ่าตัดเต้านม
8.1.1 การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Mastectomy) เป็นการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดรวมทั้งบริเวณหัวนม เพื่อไม่ให้มีมะเร็งเหลือที่เต้านม - 8.1.2 การผ่าตัดแบบเก็บรักษาเต้านม (Breast Conserving Therapy) เป็นการตัดแต่ก้อนมะเร็งออกโดยเก็บเต้านมไว้ แต่วิธีนี้ ต้องกระทำร่วมกับการฉายรังสีที่เต้านมด้วย (ฉายทุกวันติดต่อกันประมาณ 5 สัปดาห์) โดยผลการรักษาเทียบเท่ากับการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด
- 8.1.3 การผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างเต้านม Breast Reconstruction (TRAM Flap, LD Flap) แบ่งออกเป็น 3 วิธีคือ
- การผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งหมด เป็นการผ่าตัดที่เอากล้ามเนื้อและผิวหนังบริเวณหน้าท้องมาสร้างเป็นเต้านมใหม่ (TRAM flap) ซึ่งสามารถผ่าตัดเสริมไปพร้อมๆ กับการตัดเต้านมหรือมาทำภายหลังก็ได้
- การผ่าตัดเอากล้ามเนื้อและไขมันบริเวณหลังด้านข้าง (LD flap) มาเสริม ทำให้รูปร่างใกล้เคียงกับเต้านมอีกข้างได้สำหรับผู้ป่วยที่ตัดเต้านมออกบางส่วน ซึ่งบางรายเนื้อเต้านมถูกตัดออกจำนวนมาก ทำให้เต้านมเสียรูป
- การผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่โดยใช้ซิลิโคน ในผู้ป่วยที่ถูกตัดเต้านมไปแล้วต้องการสร้างเต้านมใหม่
- 8.2 การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ในอดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกรายต้องได้รับการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด แต่รายที่มีอาการข้างเคียงอาจทำให้แขนบวมและชาได้ แต่ยังมีอีก 1 วิธีใหม่คือ
- การผ่าตัดหาต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลที่รักแร้ เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ (Sentinel Lymph Node Biopsy) เพื่อหาเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ต่อมแรก แล้วนำไปตรวจก่อนว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่ หากไม่พบก็ไม่ต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองอื่นโดยไม่จำเป็น
ทีมแพทย์
แพคเกจและโปรแกรมตรวจ ศูนย์สุขภาพสตรี