สาเหตุ
สาเหตุหลักของน้ำวุ้นตาเสื่อมเนื่องจากอายุที่มากขึ้น
1. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป น้ำวุ้นตาจะมีการหดตัวและหนาตัวเป็นจุดหรือเป็นเส้นภายในลูกตา การหดตัวของน้ำวุ้นตานี้จะทำให้น้ำวุ้นตาแยกห่างออกจากจอตารวมกันเป็นกลุ่มก้อนที่มีลักษณะทึบสง ทำให้เห็นเป็นเงาเกิดขึ้น
2. ผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุทางตาหรือบริเวณศีรษะ หรือมีการอักเสบในตา จะทำให้น้ำวุ้นตาเสื่อมเร็วกว่าปกติได้
3. ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นมากๆ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำวุ้นตาเสื่อมเร็วกว่าปกติได้
อาการ
เราจะรู้สึกเห็นเหมือนมีเงาลอยไปลอยมาอาจมีรูปร่างแตกต่างกันได้หลายแบบ เช่น เป็นจุดเล็ก ๆ คล้ายลูกน้ำเป็นวงกลมหรือเป็นเส้นจะรู้สึกและสังเกตได้ง่ายขึ้นเวลามองไปยังพื้นผิวที่เรียบและเป็นสีอ่อน เช่น ผนังห้องกระดาษสีขาวหรือท้องฟ้า ลักษณะอาการแบบนี้ เราเรียกว่า Floater
ข้อแนะนำสำหรับคนที่มีภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อม
ควรพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจจอตาเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
1. รู้สึกว่ามีเงาดำ หรือ Floater ใหม่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด
2. รู้สึกมีแสงสว่าง (Flashing) คล้ายสายฟ้าแลบหรือไฟแฟลชกล้องถ่ายรูปเกิดขึ้นในบริเวณหางตา
3. รู้สึกว่าลานสายตาผิดปกติหรือแคบลง อาจเกิดจากมีจอตาฉีกขาดและหลุดลอก เพราะเวลาเกิดจอตาฉีกขาดจากการดึงรั้งของน้ำวุ้นตาจะเกิดที่บริเวณขอบจอตาก่อนเสมอ ทำให้ขอบภาพหายไปหรือมีลานสายตาแคบลง
วิธีการรักษา
1. กรณีบุคคลที่เห็นจุดลอยไปมาหรือเห็นเป็นลูกน้ำลอยไปมา จักษุแพทย์จะทำการขยายม่านตาและตรวจดูบริเวณจอตาว่ามีรอยขาดหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ยังไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไม่มีอันตรายใด ๆ สำหรับกลุ่มนี้
2. อีกกลุ่มหนึ่งที่เสื่อมลงบางครั้งมีการเคลื่อนตัวของวุ้นตาและไปรั้งจอตาได้ เมื่อดึงรั้งจอตาจอตาจะรับรู้เป็นแสง โดยอาจจะเห็นแสงวาบ ถ้าดึงรั้งมากอาจมีรอยผุเปื่อยหรือขาดได้ซึ่งจะนำไปสู่จอตาลอกและเกิดภาวะการสูญเสียสายตาได้ ถ้าหากมีน้ำวุ้นตาเสื่อมและจอตาขาดร่วมด้วยจักษุแพทย์อาจรักษาด้วยวิธีการยิงเลเซอร์ เพื่อรักษาจอตาฉีกขาดและป้องกันการหลุดลอกนั้น
3. กรณีที่มีการหลุดลอกแล้ว จักษุแพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดจอตาใส่แก๊ส (gas) ฉุกเฉิน ซึ่งหลังผ่าตัดอาจต้องนอนคว่ำหน้า 1 สัปดาห์ เพื่อให้จอตาราบติดเช่นเดิม