วัคซีนโควิด-19…ความจริงที่ต้องรู้

วัคซีนโควิด-19…ความจริงที่ต้องรู้

วัคซีน คืออะไร?

     วัคซีน คือยาชนิดหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้น เพื่อนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะด้วยการรับประทานหรือการฉีด ส่งผลทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหรือแบคทีเรียที่จะมาทำอันตรายต่อร่างกาย

     วัคซีน สามารถแบ่งออกได้หลายแบบตามกลไกการออกฤทธิ์ วัคซีนทุกชนิดล้วนแล้วแต่ถูกผลิตขึ้น เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในร่างกาย สำหรับต่อสู้กับโรคร้ายและป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ

     วัคซีน ทุกชนิดยังคงพึ่งการออกฤทธิ์โดยอาศัยภูมิคุ้มกันปฐมภูมิของร่างกาย เช่น เม็ดเลือดขาว ให้สามารถจดจำและทำลายเชื้อไวรัสหรือเชื้อแปลกปลอมต่างๆ ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น การฉีดวัคซีนนั้นจะช่วยลดการแพร่ระบาด และช่วยลดผลกระทบที่ร้ายแรงของโรคต่อผู้ที่ได้รับวัคซีน

     ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนมักต้องอาศัยระยะเวลาช่วงหนึ่งเพื่อรอให้ร่างกายมีเวลาผลิตปริมาณภูมิคุ้มกันที่เพียงพอในการป้องกันโรคนั้นๆ ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงไม่อาจป้องกันได้ในทันที นอกจากนั้นแล้ว ขบวนการที่ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันอาจมีผลข้างเคียงกับร่างกาย เช่น มีไข้ ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังสร้างภูมิคุมกันนั้น โดยเป็นอาการปกติซึ่งอาจจะเป็นข้อดีเสียด้วยซ้ำเหมือนวัคซีนกำลังออกฤทธิ์

วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นความร่วมมือของพลเมืองโลก โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดรวมตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต โดยสามารถแบ่งชนิดของวัคซีนได้เป็น 3 ชนิด

     1. Whole Virus (ไวรัสทั้งตัว) เป็นวิธีที่ทางการแพทย์เรียนรู้มานาน โดยการทำให้เชื้อไวรัสนั้นๆ อ่อนแรงลง ทำให้ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ หรือติดต่อไปสู่คนอื่น แต่ยังคงมีคุณสมบัติกระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์สามารถสร้างภูมิคุ้มกันจากเชื้อนั้นๆ ได้ ซึ่งการสร้างวัคซีนโดยวิธีนี้ มีใช้มานาน จนถึงปัจจุบัน เช่น วัคซีนวัณโรค (BCG) วัคซีนโรคไข้สมองอักเสบ วัคซีนตับอักเสบเอ เป็นต้น

  • ข้อดี
  • สามารถให้ได้ในผู้ป่วยที่มีความบกพร่องของภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง
  • วัคซีนไม่มีเชื้อที่มีชีวิต จึงไม่ทำให้เกิดโรค
  • วัคซีนมักจะมีขบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน เก็บรักษาง่าย ราคาถูก
  • ข้อเสีย
  • มักต้องการการกระตุ้นมากกว่า 1 ครั้ง 

     2. Nucleic Acid (RNA vaccine) วัคซีนชนิดนี้ ผลิตโดยการตัดต่อพันธุกรรม นำเฉพาะส่วนของเชื้อที่ไม่ทำให้เกิดโรค แต่ยังมีความสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในมนุษย์ โดยกลไกการเกิดภูมิคุ้มกัน ต้องใช้สารบางอย่างนำรหัสพันธุกรรมของเชื้อ เข้าไปในเซลล์ของร่างกายมนุษย์ ทำให้เซลล์นั้นๆ ในร่างกายมนุษย์กลายเป็นสิ่งแปลกปลอม และอาศัยระบบภูมิคุ้มกันปกติของมนุษย์คนนั้น ผลิตภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อเชื้อนั้นๆ เพื่อให้มีความสามารถในการป้องกันโรค

วิธีการผลิตวัคซีนชนิด RNA นี้ เป็นวิธีใหม่ล่าสุด ไม่เคยใช้ในการผลิตวัคซีนสำหรับมนุษย์มาก่อน แต่เคยมีการใช้ในสัตว์ เช่นวัคซีนที่ใช้ในม้า

  • ข้อดี
  • มีระดับภูมิคุ้มกันโรคสูง
  • วัคซีนไม่มีเชื้อที่มีชีวิต จึงไม่ทำให้เกิดโรค
  • ข้อเสีย
  • เก็บรักษายาก ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมาก (Ultra cold, -70 degree Celsius)
  • ยังไม่เคยมีรายงานผลการใช้ในระยะยาว

     3. Viral Vector เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตโดยอาศัยไวรัสตัวอื่นนำพาไวรัสก่อโรคเข้าไปสู่ร่างกายมนุษย์ เลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ กระตุ้นทำให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่ทำให้เกิดโรค โดยที่ไวรัสที่นำพา เป็นไวรัสที่ไม่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์

  • ข้อดี
  • มีระดับภูมิคุ้มกันโรคสูง ยกเว้นในกรณีที่เคยติดเชื้อของไวรัสตัวที่นำพามาก่อน
  • การเก็บรักษาและผลิตไม่ยุ่งยาก
  • ข้อเสีย
  • หากเคยติดเชื้อของไวรัสตัวที่นำพามาก่อน จะทำให้ประสิทธิภาพลดลง
สำหรับประเทศไทย น่าจะมีวัคซีนครบทุกแบบ วัคซีนทุกยี่ห้อ ต้องฉีด 2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 4-8 สัปดาห์
1. Whole virus vaccine (inactivated vaccine) ยี่ห้อ Sinovac ผลิตโดยประเทศจีน
2. RNA vaccine ของ Pfizer-BioNTech (ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์) และ Moderna (ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์)
3. Viral vector vaccine ของ Oxford-AstraZeneca, CanSino, Gamaleya Sputnik (รัสเซีย)

อนึ่ง วัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยได้รับเทคโนโลยีจาก Oxford-AstraZeneca


นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล 
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
19 มกราคม 2564