แพคเกจตรวจการนอนหลับ

“การนอนหลับ”

   เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดที่จะทำให้ร่างกายได้พัก ส่งผลให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย จิตใจเป็นไปอย่างปกติ และมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลดังกล่าวการนอนไม่เพียงพอหรือนอนไม่มีคุณภาพย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ การดำเนินชีวิต และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนมีหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหานอนไม่หลับ ปัญหาการนอนหลับไม่มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะง่วงนอนกลางวัน ภาวะนอนกรนหยุดหายใจ เป็นปัญหาหนึ่งซึ่งพบได้บ่อย ปัญหาดังกล่าวนอกจากทำให้รบกวนการนอนหลับของเพื่อนร่วมห้องแล้วยังทำให้ผู้ป่วยมีภาวะหายใจแผ่ว หยุดหายใจ ทำให้สะดุ้งตื่นบ่อย และสมองขาดออกซิเจน ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน อัมพาต ขาดสมาธิ ความจำสั้น ง่วงนอนกลางวัน หรือหลับใน อาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุขณะขับรถและเสียชีวิตได้

   ศูนย์ตรวจการนอนหลับ โรงพยาบาลนนทเวช  เป็นศูนย์การตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการผิดปกติที่เกิดจากการนอน เช่น นอนกรน นอนไม่หลับ นอนกัดฟัน นอนขากระตุก และการหยุดหายใจขณะหลับ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ อายุรกรรมระบบประสาท อายุรกรรมระบบทางเดินหายใจ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก

บริการของศูนย์ตรวจการนอนหลับ (Sleep Lab Center) 
  • ตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของการนอนหลับด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Polysomnography) เป็นการตรวจนอนหลับในช่วงเวลากลางคืนประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาล 1 คืน เพื่อดูลักษณะการนอนว่าหลับสนิทหรือไม่ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวัดระดับการนอนหลับ ตรวจวัดคลื่นสมอง ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจวัดลมหายใจ ตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ตรวจเสียงกรน ตรวจท่านอนและตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือด
  • การรักษาด้วยเครื่องซีแพพ (CPAP) ถือเป็นมาตรฐานการรักษา โดยการเปิดขยายและถ่างทางเดินหายใจส่วนต้นในขณะนอนหลับ เครื่องจะเป่าลมไปสู่จมูกผ่านทางหน้ากากตลอดเวลา ผู้ป่วยจะไม่เจ็บปวด เพื่อป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจตีบแคบ
  • การรักษาด้วยคลื่นวิทยุ เพื่อทำให้เนื้อเยื่อเพดานอ่อนเกิดเป็นพังผืดและมีการหดตัว ทำให้ช่องเดินอากาศกว้างขึ้นและหายใจได้สะดวก แผลจะมีขนาดเล็กมากอยู่บริเวณใต้เยื่อบุเพดานอ่อนในช่องปาก 
  • การรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อเพิ่มขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น และแก้ไขลักษณะทางกายวิภาคที่ผิดปกติ  ซึ่งนำไปสู่การอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบน การรักษาโดยการผ่าตัดมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุอยู่ที่ตำแหน่งใด เช่น จี้เยื่อบุจมูกด้วยคลื่นวิทยุ และ การใช้เลเซอร์ผ่าตัดสลายเนื้อเยื่อต่อมทอนซิลให้มีขนาดเล็กลงร่วมกับการเย็บซ่อมแซมต่อมทอนซิล ก็จะสามารถรักษาผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • การให้คำปรึกษาด้านปัญหาการนอนหลับ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ อายุรกรรมระบบประสาท อายุรกรรมระบบทางเดินหายใจ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก เนื่องจากโรคนอนหลับผิดปกติอาจเกิดจากหลายๆ สาเหตุด้วยกัน
 เหตุใดการนอนไม่มีคุณภาพจึงเป็นอันตรายสำหรับบางคน?

   การนอนกรนคงไม่เป็นอันตรายหากไม่ได้มีภาวะหายใจแผ่วหรือหยุดหายใจ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ขณะหลับกับผู้ที่มีปัญหานอนกรน กลไกดังกล่าวเกิดจากการตีบแคบของระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งเป็นมากขณะหลับ ผลที่ตามมาคนไข้มักจะสะดุ้งตื่นจากภาวะออกซิเจนต่ำ หรืออากาศเข้าปอดที่ลดลงบางครั้งอาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำ ซึ่งผลต่อสุขภาพมีหลายประการดังที่ได้กล่าวไป

การตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep test ) คืออะไร?

   การตรวจสุขภาพการนอนหลับ เป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์การทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกายระหว่างการนอนหลับ  เช่น ระบบการหายใจ  ระดับออกซิเจนในเลือด  การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการเคลื่อนไหว รวมถึงศึกษาพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นขณะหลับ ปัจจุบันถือว่าเป็นการตรวจมาตรฐานสากล สำหรับการวินิจฉัยความผิดปกติขณะนอนหลับ จะทำการวัดตลอดทั้งคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการหลับของคนทั่วไป ระยะเวลาที่นอนหลับถ้าน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ผลที่ได้จะเชื่อถือได้น้อย ผลการตรวจการนอนหลับที่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลการวัดระดับความลึกของการนอนหลับอาจจะผิดพลาดได้ ต้องมีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่มีความชำนาญในการอ่านคลื่นสมอง ตรวจเช็คผลซ้ำอีกครั้งด้วยจึงจะเชื่อถือได้

เมื่อไหร่ควรรับการตรวจ Sleep test?
Sleep test ควรตรวจเมื่อเกิดอาการ
  • ผู้ที่มีปัญหานอนกรนดังผิดปกติ
  • ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้าไม่สดชื่น
  • ปวดมึนศีรษะต้องการนอนต่ออีกเป็นประจำ
  • มีอาการง่วงนอนกลางวันมากผิดปกติ ทั้งๆ ที่ได้นอนอย่างเพียงพอแล้ว
  • หายใจขัด หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ  อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย 
  • มีอาการหายใจลำบาก หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ
  • นอนกัดฟัน หรือ นอนละเมอ นอนฝันร้าย สะดุ้งตื่นเป็นประจำ
  • ความดันโลหิตสูง ซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน
  • ตื่นนอนกลางดึกโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือปัสสาวะกลางดึกโดยไม่ทราบสาเหตุ
การตรวจ Sleep test มีแบบใดบ้าง และควรเลือกตรวจอย่างไร?

   การตรวจสุขภาพการนอนหลับ หรือ sleep test  เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐาน ที่ใช้ในการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค  ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้นจะมีผลต่อการวางแผนและการตัดสินใจทางเลือกในการรักษา สามารถแบ่งออกได้ เป็น 4 ระดับ ตามความละเอียดของข้อมูลที่ตรวจ โดยใช้ตามนิยามของสมาคมเวชศาสตร์การนอนหลับของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลดังนี้

ระดับที่ 1

การตรวจสุขภาพการนอนแบบสมบูรณ์โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดคืน เพื่อประเมินการวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง  คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ลูกตา ใต้คาง และขา คลื่นไฟฟ้า หัวใจ การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด การตรวจวัดลมหายใจ เป็นอย่างน้อย โดยอาจทำภายในห้องตรวจเฉพาะของสถานพยาบาล หรือนอกสถานที่ แต่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการตลอดทั้งคืนที่ตรวจ ซึ่งการตรวจลักษณะนี้จะทำให้ทราบความผิดปกติของการนอนหลับประเภทอื่นๆ ของการนอน สามารถวินิจฉัยภาวะนอนกรนได้ทุกระดับความรุนแรง และในกรณีผู้ป่วยนอนกรน เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก และประเมินว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ค่าความดันอากาศระดับใดในการรักษา ซึ่งไม่สามารถทำในการตรวจระดับอื่น

ระดับที่ 2

การตรวจสุขภาพการนอนหลับแบบสมบูรณ์ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่เผ้าตลอดทั้งคืน วิธีนี้อาจตรวจตามบ้าน ในห้องนอนของผู้รับการตรวจเอง หรือ ตามสถานที่พักต่างๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ให้แต่ไม่ได้เฝ้าระหว่างเวลาที่ตรวจ  ลักษณะของการตรวจแบบนี้มีส่วนประกอบและข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือได้ใกล้เคียงกับ การตรวจระดับ 1  

ระดับที่ 3

เป็นการตรวจภาวะหยุดหายใจที่บ้าน โดยการตรวจจะไม่ได้ดูคลื่นสมองเหมือนการตรวจระดับ 1 ข้อดีคือสะดวกสบายค่าใช้จ่ายไม่แพง อาจทำในผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัว หรือสังสัยภาวะหยุดหายใจระดับกลางถึงขั้นรุนแรง

ระดับที่ 4

เป็นการตรวจดูภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยอาศัยการดูออกซิเจนปลายนิ้ว ซึ่งมีความแม่นยำในการวินิจฉัยน้อย

เตรียมตัวอย่างไรก่อนรับการตรวจ Sleep test?

   ผู้รับการตรวจส่วนมากสามารถนอนหลับได้ใกล้เคียงปกติ และไม่จำเป็นต้องหยุดงาน เนื่องจากการตรวจทำในช่วงใกล้เวลานอนปกติ  โดยในวันที่ตรวจผู้รับการตรวจควรสวมเสื้อผ้า เหมือนชุดที่ใส่นอนเป็นประจำ  โดยทำจิตใจให้สบาย ไม่ต้องวิตกกังวล เนื่องจากจะไม่มีสร้างความเจ็บปวดใดๆ นอกจากความไม่คุ้นเคยกับเครื่องมือที่ติดตามร่างกายส่วนต่างๆ เท่านั้น นอกจากนี้ในวันที่ทำการทดสอบ ผู้รับการตรวจควรหลีกเลี่ยงการดื่ม กาแฟ ชา  เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์เป็นส่วนผสม หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก หลังเที่ยง และไม่ควรใส่น้ำมัน หรือครีมแต่งผม  โดยควรจะนอนในท่าที่สบายและเคยชินที่สุด  สำหรับกรณีที่ใช้ยารักษาโรคประจำตัวเป็นมานาน  เช่น ยาลดความดันโลหิต ยารักษาเบาหวาน หรือ ยานอนหลับ อาจไม่จำเป็นต้องหยุดยาก่อนตรวจ   อย่างไรก็ดีควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่และแพทย์ทราบด้วย  หลังจากตรวจเสร็จ ในช่วงเช้า ผู้รับการตรวจสามารถตื่นนอนตามเวลาปกติ  โดยกรณีที่ตรวจระดับ 2 อาจนัดแนะเวลากับเจ้าหน้าที่ให้มาถึงสถานที่รับการตรวจตามสะดวก โดยเจ้าหน้าที่จะทำการแกะอุปกรณ์ต่างๆออก และนำกลับไปวิเคราะห์ผลและตรวจสอบโดยแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์ตรวจการนอนหลับ (Sleep Lab Center)
โทร. 
0-2596-7888

 

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. - 31 ธ.ค. 2567

@nonthavej.hospital