สารพันปัญหา.. กระดูกและข้อในผู้สูงอายุ

สารพันปัญหา.. กระดูกและข้อในผู้สูงอายุ

" โรคส่วนใหญ่ที่พบในผู้สูงอายุนั้น อาจเกิดตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวจากการ ไม่ดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่อง เมื่ออายุมากขึ้น จะแสดงอาการชัดเจนหรือรุนแรง โดยเฉพาะ โรคที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อเป็น ปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุ ไม่ว่าใคร ก็ต้องพบกับปัญหานี้ ขึ้นอยู่ว่า จะช้าหรือเร็ว "
  • 1. กระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุน  ผู้สูงอายุจะมีปัญหาในเรื่องของกระดูกพรุนหรือบาง เวลาที่ล้มหรือกระแทกอะไรก็ตาม จะทำให้แตกหักง่าย

  • 2. อาการปวดจากความเสื่อม ส่วนมากผู้สูงอายุจะมีอาการปวดเข่า ปวดหลัง ปวดข้อ ฯลฯ โดยความเสื่อมอาจเกิดได้อายุที่มากขึ้น หรือจากการใช้งานข้อในการทำกิจกรรมต่างๆ มากเกินไปตั้งแต่วัยหนุ่มสาวหรือจากทั้ง 2 สาเหตุ อาทิ การเดินขึ้น-ลงบันได การยกของหนักผิดวิธี เป็นต้นซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ข้อเสื่อมได้เร็วกว่าคนทั่วไป

อาการที่กล่าวถึงข้างต้นนอกจากอาการปวดแล้วยังมีผล กระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่อยู่ในภาวะกระดูกพรุนเมื่อกระดูกแตกหรือหัก จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากคนใกล้ชิด

ทั้งกระดูกพรุนและข้อเสื่อมเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องเจอ แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ หากรู้จักและทำความเข้าใจก็จะช่วยให้โอกาสในการเกิดโรค หรือผลลัพธ์จากการเป็นโรคน้อยลง

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) 

   โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการเสียสมดุลของฮอร์โมน ทำให้กระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ การดูดซึมแคลเซียมเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนจะมีภาวะกระดูกพรุนตามธรรมชาติ เนื่องจากฮอร์โมนลดน้อยลง ส่วนปัญหาเรื่องกระดูกพรุนในผู้ชายจะไม่ค่อยพบ ผู้สูงอายุที่มีปัญหากระดูกพรุนหรือกระดูกบางจะกระดูกเปราะและหักได้ง่าย เมื่อเกิดอุบัติเหตุ พบมากในผู้หญิงที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปและผู้ชายอายุ 55 ปีขึ้นไป

จะรู้ได้อย่างไร..ว่าเป็นโรคกระดูกพรุน

ภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุมักไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆยกเว้นเมื่อมีอาการหักของกระดูก จะมีอาการเจ็บปวดบริเวณที่มีกระดูกหัก แต่ผู้สูงอายุสามารถสังเกตุปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนหรือไม่โดยพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้

  • อายุมาก
  • เพศหญิง
  • ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • ภาวะหมดประจำเดือน
  • สูบบุหรี่
  • ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีน้อย
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ 
  • ออกกำลังกายไม่เพียงพอ

หากทราบว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงตามที่กล่าวมา ควรรับการตรวจหาค่าความหนาแน่นของมวลกระดูก เพื่อที่จะได้รู้ว่าปัจจุบันความหนาแน่นของกระดูกเป็นอย่างไร หากพบว่าอยู่ในภาวะกระดูกพรุนจะได้เริ่มรับการรักษาและดูแลแต่เนิ่นๆ

ป้องกัน...ดีที่สุด
" การรักษาโรคกระดูกพรุนสามารถป้องกัน โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมา และป้องกันการหกล้มหากทราบว่าตัวเองกระดูกพรุนหรือบาง ควรรับประทานยาเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกภายใต้การดูแลตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยทำให้กระดูกหนาแน่นและแข็งแรงขึ้นหรือควรเสริมด้วยแคลเซียมชนิดเม็ดเพื่อบำรุงกระดูก "

ตรวจเพื่อลดความเสี่ยง
   หากปล่อยให้ข้อเสื่อมนานไป ผลเสียที่เกิดมากที่สุด คือ ไม่สามารถใช้งานข้อนั้นได้ไม่ว่าจะเป็นข้อกระดูกสันหลังหรือข้อเข่า ถ้าข้อกระดูกสันหลังใช้งานไม่ได้จะทำให้ปวดหลัง ลุกนั่งไม่ได้ เดินไม่ไหวเกิดอาการชา แขนขาอ่อนแรงส่วนข้อเข่าก็เช่นกัน ถ้าเป็นมากๆ ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ซึ่งเป็นวิธีเดียวเท่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบดังกล่าว การตรวจสุขภาพข้อต่างๆ ที่สำคัญเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงได้ โดยวิธีการตรวจมีดังนี้
  • - ดูจากอาการของคนไข้ที่พบได้ เช่น ปวดเข่าปวดหลัง ตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • - เอ็กซเรย์ เพื่อดูว่ามีความเสื่อมเกิดขึ้นบริเวณข้อหรือไม่
  • - การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ที่สามารถแสดงภาพกายวิภาคของกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง และลักษณะของกระดูกข้อเข่า เมื่อสงสัยว่ามีการฉีกขาดของหมอนรองเข่าหรือกระดูกอ่อนภายในข้อร่วมด้วย ซึ่งการตรวจด้วย MRI จะเห็นภาพชัดเจน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนรักษา

โรคข้อเสื่อมในผู้สูงอายุ

   เป็นปัญหาที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น ยิ่งคนเรามีอายุยืนมากขึ้นเท่าไรจำนวนของคนที่เป็นโรคข้อเสื่อม ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น เมื่อมีอายุมากขึ้นจนเข้าวัยทอง หนีไม่พ้นโรคข้อเสื่อม ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าและเกิดขึ้นเมื่อใด โดยมากมักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเข่า และปวดหลัง ซึ่งเป็นส่วนที่เกิดการเสื่อมมากที่สุดเนื่องจากข้อที่ต้องรับน้ำหนัก ของร่างกายโดยตรง เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกอ่อนในข้อเหล่านี้เป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุด สมบูรณ์ที่สุด เมื่อคนเราอายุประมาณ 30 ปีหลังจากนั้นจะเริ่มเสื่อมลง แต่ยังไม่เป็นข้อเสื่อม เพราะร่างกายของเรามีกลไกที่คอยซ่อมแซมเอาไว้ ทำให้สามารถใช้งานข้อได้ตามปกติโดยยังไม่มีอาการอะไร

   แต่เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ขบวนการซ่อมแซมนี้ก็เริ่มเสื่อมตามวัย ผู้สูงอายุจะเริ่มมีอาการของโรคข้อเสื่อม แต่จะแสดงอาการเมื่อใดขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของข้อต่อกระดูกและสภาพร่างกายของแต่ละคน ถ้ามีน้ำหนักตัวมาก น้ำหนักที่กดกระแทกลงมาที่ข้อก็จะมาก ข้อก็จะเกิดความเสื่อมเร็ว ถ้ามีการใช้งานข้อมากๆเช่น มีการเดินมาก ยืนมาก หรือเดินขึ้นลงบันไดมากๆนั่งยองๆ มาก ข้อก็จะเสื่อมเร็ว

ป้องกันข้อเสื่อมได้หรือไม่?
   ข้อเสื่อมแม้จะมีวิธีรักษาจำกัดแต่ก็สามารถป้องกันได้ แต่ต้องทำทันทีตั้งแต่วันนี้ เริ่มจากออกกำลังกายเป็นประจำ จัดท่าทางลักษณะการใช้งานข้อให้ถูกต้อง และเมื่อมีอาการปวดข้อหรือหลังควรพักผ่อน หรือหยุดทำงานทันที ถ้าปวดมากควรปรึกษาแพทย์ให้เร็วที่สุด

ขอบคุณข้อมูล : วารสาร Healthy Living