การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Neurovascular Ultrasound)

การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Neurovascular Ultrasound)

   ในปัจจุบันมีการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงตรวจหลอดเลือดสมองและเส้นเลือดบริเวณคอมากขึ้น เนื่องจากตรวจได้ง่าย ราคาไม่สูงมากนัก ทําให้ใช้ในการตรวจคัดกรองได้ดี โดยเฉพาะในการตรวจพยาธิสภาพของหลอดเลือดแดงบริเวณคอ ซึ่งปัจจุบันพบว่าถ้ามีการตีบของหลอดเลือดแดงบริเวณคออย่างมีนัยสําคัญ การผ่าตัด  Carotid Endarterectomy โดยผู้ที่มีความชํานาญสามารถป้องกันการเกิดภาวะสมองขาดเลือดได้ดีกว่าการใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียว

การตรวจหลอดเลือดทางประสาทวิทยาโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง สามารถแบ่งการตรวจเป็น  2  ส่วนใหญ่ๆ คือ
1. การตรวจหลอดเลือดใหญ่บริเวณคอ  ได้แก่หลอดเลือด  Carotid  และหลอดเลือด  Vertebral (Carotid Duplex Ultrasounds)
2. การตรวจหลอดเลือดในกระโหลกศีรษะ  (Transcranial Duplex ultrasound)

การตรวจหลอดเลือด Carotid และ Vertebral บริเวณคอ
การตรวจหลอดเลือด  Carotid  บริเวณคอ จะตรวจในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน  ( รวมถึงภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วคราว Transient  Ischemic Attack : TIA ด้วย)  นอกจากนี้ยังใช้คัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือด เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดแดง Coronary หรือหลอดเลือดส่วนปลายแขน/ขาตีบ และผู้ป่วยที่ถูกตรวจพบว่ามี  Carotid bruit  รวมทั้งใช้ในการประเมินหลังจากผ่าตัดหลอดเลือด  Carotid  หรือหลังจากใส่ Stent  ซึ่งการตรวจนี้มีความจําเพาะสูงเมื่อเทียบกับการตรวจเอกซเรย์หลอดเลือดแดง (Angiography)

ใครบ้างที่ต้องตรวจหลอดเลือดใหญ่บริเวณคอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid Duplex Ultrasounds)
· ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต เพื่อดูรอยโรคของหลอดเลือดแดง Carotid และติดตามผลเป็นระยะ
· ผู้ป่วยที่เคยมีอาการสมองขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วคราว (TIA)
· ผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติที่หลอดเลือดแดง Carotid ทั้งรายที่มีอาการและไม่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองที่มีการขาดเลือดเฉพาะที่
· ผู้ที่ต้องผ่าตัดโรคหลอดเลือดอื่นๆ เช่น ผ่าตัดตัดต่อหลอดเลือดแดงหัวใจในรายที่มีหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตัน เพื่อตรวจประเมินค่าก่อนนำผู้ป่วยไปผ่าตัด
· ตรวจสุขภาพเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่มีประวัติมีบุคคลในครอบครัวเป็นอัมพาต จากอาการสมองขาดเลือดไปเลี้ยง

  การนําผลการตรวจไปใช้
  1. ในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนคอที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองตีบและมีอาการของสมองขาดเลือดหรือ  TIA  ข้างเดียวกับที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนคอที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองตีบ  (symptomatic ICA stenosis)  ซึ่งมีการตีบของหลอดเลือดนี้มากกว่าร้อยละ  70-99  การทําการผ่าตัดเปิดหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนคอ (Carotid endarterectomy) โดยผู้ที่มีความชํานาญ พบว่าช่วยลดการเกิดภาวะสมองขาดเลือดได้อย่างมีนัยสําคัญเทียบกับการรักษาด้วยยามาตรฐานอย่างเดียว และในรายที่พบว่ามีการตีบของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนคอที่ขึ้นไปเลี้ยงสมอง ร้อยละ 50-69  ก็จะมีความเสี่ยงของภาวะสมองขาดเลือดมากขึ้นอาจต้องทําการตรวจติดตามต่อไป  อย่างไรก็ตามการประเมินการตีบของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนคอที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองต้องอาศัยการตรวจหลอดเลือดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น  การตรวจหลอดเลือดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  (Computed Tomography Angiography)  หรือการตรวจหลอดเลือดด้วยพลังงานแม่เหล็ก  (Magnetic Resonance Angiography : MRA)

  2. ลักษณะของคราบไขมันที่เกาะบริเวณผนังหลอดเลือด (Atherosclerotic plaque) ในผู้ป่วยบางรายที่มีการตีบของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนคอที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองแต่ไม่มาก อาจพบว่าลักษณะของคราบไขมันที่เกาะบริเวณผนังหลอดเลือดมีผิวที่ขรุขระหรือมีแผล (Ulceration)  หรือคราบไขมันที่เกาะบริเวณผนังหลอดเลือดที่มีก้อนเกร็ดเลือดเกาะที่ผิวสัมพันธ์กับการเกิดภาวะสมองขาดเลือดมากขึ้น  แตกต่างจากคราบไขมันที่เกาะบริเวณผนังหลอดเลือดที่มีแคลเซียมเกาะจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า

  3. ความหนาของผนังหลอดเลือดชั้น  Intima-Media  ซึ่งมีข้อมูลสนับสนุนว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะหลอดเลือดแดงเสื่อมจากไขมันแทรกที่ผนังหลอดเลือด ทั้งนี้เคยมีรายงานว่าผู้ที่มีความหนาของผนังหลอดเลือดชั้น  Intima-Media  มากกว่า  0.8 มิลลิเมตร จะมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองมากขึ้น

  4. จากการตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Doppler  Ultrasound) สามารถวัดความเร็วของการไหลของเลือดบริเวณที่มีการการตีบโดยประเมินเป็นภาพเคลื่อนไหวและกราฟ ในกรณีที่มีการตีบรุนแรงความเร็วของเลือดจะยิ่งสูงขึ้น และสามารถวิเคราะห์รูปร่างของกราฟที่ปรากฏ  (Waveform Morphology)  ทั้งในหลอดเลือด  Carotid  และ  Vertebral  ซึ่งสามารถบอกภาวะความผิดปกติที่เฉพาะได้ 

5. ความผิดปกติอื่นๆ  เช่น  ภาวะเลือดออกและเซาะในชั้นผนังของหลอดเลือดแดง (Carotid dissection) สามารถตรวจพบได้จากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเช่นกัน

ข้อจํากัดในการตรวจหลอดเลือดบริเวณคอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
1. มีข้อจํากัดในผู้ป่วยที่มีแผลหรือแผลเป็นบริเวณคอ
2. ผู้ป่วยที่มีคอสั้นหรืออ้วนมาก (คอหนา)
3. ผู้ป่วยรายที่มีการแตกแขนงของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนคอที่ค่อนข้างสูงชิดกับขากรรไกรล่าง  ทําให้ไม่สามารถตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนคอที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองได้ชัดเจน
4. มีหินปูนสะสมที่ผนังหลอดเลือดหนา ทําให้ไม่สามารถเห็นหลอดเลือดได้ชัด

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการตรวจรักษา
· ไม่มีผลข้างเคียง
· ปลอดภัย
· ไม่เจ็บปวด
· ทำซ้ำได้โดยไม่อันตราย

การปฏิบัติตัวก่อน-หลัง
· ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร
· ไม่ต้องเตรียมตัวใดๆ ทั้งก่อน - หลังตรวจ
· ไม่มีข้อห้ามในการปฏิบัติตัวก่อน-หลังตรวจ

การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทางกะโหลกศีรษะ ( Transcranial Duplex ultrasound )

ประโยชน์ของการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทางกะโหลกศีรษะ
1. ประเมินว่าหลอดเลือดใหญ่เส้นใดในสมองที่มีการตีบหรืออุดตัน
2. ประเมินการไหลเวียนของหลอดเลือดที่เข้ามาช่วยเหลือบริเวณขาดเลือดขณะที่มีการตีบของหลอดเลือดในสมอง (Collateral circulation)
3. ใช้ติดตามและวินิจฉัยภาวะวิกฤตบางอย่างได้ เช่น หลอดเลือดหดตัว  (Vasospasm)  ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid hemorrhage) ซึ่งอาจเกิดในช่วงวันที่  4-11  หลังจากเกิดอาการ หรือใช้ติดตามในภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง
4.  ใช้เฝ้าระวังติดตามภาวะลิ่มเลือดขนาดเล็กหลุดมายังหลอดเลือดสมองที่ เรียกว่า  Microembolic signal  (MES)  โดยใช้การตรวจอย่างต่อเนื่อง  (Transcranial Ultrasound Monitoring)  ติดต่อเป็นระยะเวลา 30-120  นาที
5. ตรวจการปรับสมดุลของหลอดเลือดแดงในสมองโดยอัตโนมัติ (Autoregulation) โดยดูการตอบสนองของหลอดเลือดแดงในสมองต่อภาวะต่างๆ  (Vascular  Reactivity) หลังจากทําให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดหรือหลังจากการให้ยา  acetazolamide

ข้อจํากัดในการตรวจหลอดเลือดสมองด้วย Transcranial Ultrasound
1. ผู้ป่วยที่มีส่วนบางของกะโหลกที่คลื่นเสียงความถี่สูงผ่านได้ (Bone Window) หนาเกินไปหรือแคบมากจนคลื่นเสียงไม่สามารถผ่านได้ดีพอ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่สูงอายุ ผู้ป่วยเพศหญิง ผู้ป่วยผิวดํา
2. ในรายที่ตรวจไม่พบการไหลเวียนของเลือด บางครั้งแยกได้ยากว่าตรวจไม่พบหลอดเลือดหรือมีการอุดตันจริง

ข้อมูลโดย :
นพ.พลสันต์ เรืองคณะ
อายุรแพทย์ระบบประสาท
ศูนย์สมองและระบบประสาท (Comprehensive Neurology Center)
โรงพยาบาลนนทเวช