“เนื้องอกมดลูก” เรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้......

“เนื้องอกมดลูก” เรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้......

เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก Leiomyoma

   เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกเป็นรอยโรคทางนรีเวชที่พบบ่อยที่สุดและเป็นสาเหตุของการผ่าตัดมากที่สุดในโรคทางนรีเวช โดยจะพบได้ประมาณ 50% ของสตรี ส่วนมากไม่มีอาการ ในรายที่มีอาการจะขึ้นกับชนิดของเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกซึ่งแบ่งตามตำแหน่งของเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก

  •  ชนิดแรก  เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก(Subserous myoma) กลุ่มนี้มักจะไม่มีอาการ ขนาดมักจะใหญ่ อาการที่เกิดมักเกิดจากขนาดของก้อนไปกดเบียดอวัยวะอื่น เช่น กดกระเพาะปัสสาวะทำให้ปัสสาวะบ่อย กดลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดอาการท้องผูก หรือ กดท่อไตทำให้ท่อไตบวม การทำงานของไตแย่ลงอาจถึงภาวะไตวาย
  •  
  •  ชนิดที่สอง  เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก (Intramural myoma) เนื้องอกภายในกล้ามเนื้อของมดลูก ขัดขวางการบีบรัดตัวของมดลูก หรือขนาดใหญ่หรือใกล้โพรงมดลูก เป็นผลทำให้มีอาการปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมามาก ในบางรายขนาดเนื้องอกใหญ่มากอาจทำให้มดลูกโตและไปเบียดอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดความผิดปกติ
  •  
  •  ชนิดที่สาม  เนื้องอกมดลูกที่โพรงมดลูก (Submucous myoma) เนื้องอกชนิดนี้อยู่ในกล้ามเนื้อใต้เยื่อบุโพรงมดลูกทำให้พื้นผิวในโพรงมดลูกไม่เรียบ ซึ่งจะทำให้มีเลือดออกผิดปกติ ประจำเดือนกระปริดประปรอยระหว่างรอบเดือน ปวดท้องประจำเดือน และเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก

   เนื้องอกอาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน เนื้องอกส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากภายในที่เป็นชั้นของกล้ามเนื้อของมดลูกมีการเจริญเติบโตต่อไป เนื้องอกอาจจะเจริญเติบโตออกไปทางด้านนอกของมดลูกหรือจะเจริญเติบโตต่อเข้าไปด้านในเบียดโพรงมดลูก ทำให้มีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น เลือดออกผิดปกติ,ปวดท้องน้อย, รวมถึงการเบียดอวัยวะอื่นๆได้ ซึ่งผลที่ตามมาอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง, การขาดธาตุเหล็ก, ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

เนื้องอกชนิดนี้เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง โอกาสกลายเป็นมะเร็งต่ำประมาณ 1 : 1,000

แนวทางการรักษา
  •  กรณีไม่มีอาการ ไม่ต้องทำการรักษาใดๆ แนะนำให้ตรวจติดตามต่อเนื่องเพื่อติดตามขนาด และตำแหน่งของก้อนเนื้องอกมดลูก
  •  
  •  กรณีมีอาการ การรักษาหลัก คือ การลดขนาดของเนื้องอกมดลูก, ตัดเนื้องอกมดลูก หรือตัดมดลูก
 
โดยมีทางเลือกในการรักษา โดยการใช้ยา หรือการเข้ารับการผ่าตัด
  •  การรักษาโดยใช้ยา ปัจจุบันการรักษาโดยใช้ยาที่มีหลักฐานการวิจัยยืนยัน ได้แก่ การฉีดยา GnRH agonist. เพื่อลดขนาดของก้อนเพื่อเข้ารับการผ่าตัด
  •  
  •  การใช้ยากลุ่มอื่น เช่น การทานยาคุมกำเนิด, การฉีดยาคุมกำเนิด สามารถช่วยได้ในเรื่องของการมีประจำเดือนมามาก แต่บางการศึกษาพบว่า เป็นการกระตุ้นให้ก้อนเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกโตขึ้นได้
  •  
  •  การรักษาโดยการผ่าตัดเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ในปัจจุบันสามารถผ่าตัดได้โดยการผ่าตัดผ่านกล้องแบ่งเป็นสองชนิด​
    •  
    • 1.การส่องกล้องทางโพรงมดลูก hysteroscopy  สามารถใช้ในการผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูกที่อยู่ในโพรงมดลูก หรือที่มีการเบียดโพรงมดลูก วิธีการผ่าตัดนี้ จะไม่มีแผลผ่าตัด จะสอดกล้องผ่านช่องคลอด ปากมดลูกเข้าสู่โพรงมดลูก และใช้ลวดไฟฟ้าในการตัดเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้สามารถฟื้นตัวได้เร็ว ข้อจำกัดของการส่องกล้องทางโพรงมดลูก ได้แก่ขนาดของเนื้องอกมดลูก ในกรณีที่ขนาดใหญ่ ดังนั้นการตรวจพบแต่เนิ่นๆจะทำให้สามารถรักษาได้ง่ายขึ้น
    •  
    • 2.การส่องกล้องทางช่องท้อง Laparoscopy การส่องกล้องทางหน้าท้องสามารถผ่าตัดรักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกได้เทียบเคียงกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง โดยจะมีแผลผ่าตัด ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร 3-4 แผล ขึ้นกับความยากง่ายของการผ่าตัด ส่วนสำคัญคือการนำเนื้องอกออกจากช่องท้องหลังจากผ่าตัดแล้ว โดยเฉพาะก้อนที่มีขนาดใหญ่ ปัจจุบันการใช้เครื่องปั่นชิ้นเนื้อต้องทำในถุงชนิดพิเศษเท่านั้น เพื่อป้องกันการกระจายของเนื้องอกไปฝังตัวในช่องท้องตำแหน่งอื่น การผ่าตัดส่องกล้องจะช่วยให้ผู้ป่วยใช้เวลาฟื้นตัวน้อยกว่า เจ็บแผลน้อย ทำให้กลับสู่ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว

การเข้ารับการตรวจภายในร่วมกับการตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้องส่วนล่างเป็นประจำทุกปี จะช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคทางนรีเวชได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้สามารถมีทางเลือกในการรักษา และโอกาสหายได้มากกว่า


นพ.ศุภชัย เรืองแก้วมณี 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวช และการผ่าตัดผ่านกล้อง 
ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช และมะเร็งทางนรีเวช โรงพยาบาลนนทเวช