โรคนอนไม่หลับเป็นปัญหาที่พบได้ทุกวัย ทุกอายุ เกิดขึ้นได้บ่อยตามข้อมูลการศึกษาพบได้ถึง ร้อยละ30-35 ของผู้ใหญ่ พบภาวะดังกล่าวได้บ่อยในวัยผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ ผู้ป่วยจะมีปัญหานอนไม่หลับทั้งๆที่มีโอกาสเพียงพอสำหรับการนอน ผลของการนอนไม่หลับทำให้ร่างกายเกิดความอ่อนเพลีย, ปวดศีรษะ, จิตใจเกิดความกังวลหรือมีผลต่อการคิดการตัดสินใจและการทำงานในช่วงกลางวัน
โรคนอนไม่หลับสามารถแบ่งได้หลายประเภทตามลักษณช่วงเวลาของการนอนไม่หลับ
- 1.Initial insomnia คือภาวะที่ผู้ป่วยมีปัญหานอนหลับยากใช้เวลานอนนานกว่าจะหลับภาวะดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล
- 2.Maintinance insomnia คือภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้ยาวมีการตื่นกลางดึกบ่อยภาวะดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาทางกาย เช่นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
- 3.Terminal insomnia คือภาวะที่ผู้ป่วยตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่นอาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า
นอกจากนี้ถ้าแบ่งตามระยะเวลาที่เกิดโรคจะแบ่งได้สองกลุ่มคือ
- - Adjustment insomnia (โรคการนอนไม่หลับจากการปรับตัว) ซึ่งผู้ป่วยมักเป็นฉับพลันตามหลังสถานการณ์ เช่นความเครียด, การเจ็บป่วย, ปัญหาวิตกกังวล, สถานที่นอนหรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเมื่อปัจจัยที่กล่าวไปหายไปอาการนอนไม่หลับก็มักกลับมาปกติ
- - Chronic insomnia (โรคการนอนไม่หลับเรื้อรัง) ผู้ป่วยจะมีภาวะนอนไม่หลับอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์และเป็นมาอย่างน้อย 3 เดือน
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะนอนไม่หลับ
- 1.อ่อนเพลีย
- 2.ไม่สามารถมีสมาธิกับการทำงาน, ความจำเปลี่ยนแปลง
- 3.ความสามารถในการทำงานลดลง
- 4.อารมณ์หงุดหงิดกระสับกระส่าย
- 5.ง่วงนอนเวลากลางวัน
- 6.ขาดพลังในการใช้ชีวิตอ่อนเพลีย
- 7.การเกิดอุบัติเหตุ
- 8.กังวลเกี่ยวกับปัญหาการนอนที่เกิดขึ้น
ปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะนอนไม่หลับ
- 1.ปัญหาความเครียด
- 2.ภาวะความผิดปกติของการหลับเช่น ภาวะขาอยู่ไม่สุข ( Restless legs syndrome)
- 3.ภาวะเจ็บป่วยทางกาย เช่นภาวะปวด,เหนื่อย, กรดไหล่ย้อน, การที่ร่างกายไม่สามารถเคลื่นไหวได้ปกติ สาเหตุข้อนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ นอกจากนี้แล้วภาวการตั้งครรภ์, หมดประจำเดือน ยังมีผลต่อการนอนไม่หลับ
- 4.ภาวะทางจิตใจ เช่นภาวะซึมเศร้า,ภาวะวิตกกังวล
- 5.ภาวะกังวลว่าจะนอนไม่หลับ (psychophysiological insomnia) ผู้ป่วยจะกังวลกับปัญหาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นซึ่งความวิตกนี้เองทำให้เกิดการตื่นตัวของร่างกายและจิตใจผลจึงทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับ
- 6.การใช้ยาหรือสารบางอย่าง เช่นยาแก้หวัด, ยากลุ่ม psudoepheridrine,ยาลดน้ำหนัก,ยาแก้หอบหืด, ยาต้านซึมเศร้า, ยากลุ่ม methylphenidate นอกจากนี้เครื่องดึมที่มีคาเฟอีน,นิโคตินและแอลกอออล์ก็มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับ
- 7.ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเสียงหรือแสงที่มารบกวน, อุณหภูมิห้องที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
- 8.ปัญหาการทำงานเป็นกะ (shift work)
การวินิจฉัยโรค อาศัยการซักประวัติเกี่ยวกับการนอนหลับ, สภาวะร่างกายและจิตใจ ร่วมถึงการประเมินสาเหตุอื่นๆข้างต้น นอนจากนี้การทำแบบบันทึกการนอน (sleep diary) สามารถทำให้ทราบถึงลักษณะการนอนเวลาหลับ เวลาตื่นที่ผิดปกติได้
การรักษา
การรักษาโดยไม่ใช้ยา : การสร้างสุขอนามัยที่ดีของการนอน (sleep hygiene)
- 1.เข้านอนตรงเวลาและตื่นตรงเวลาเป็นประจำในเวลาใกล้เคียงกันทุกวันทั้งวันธรรมดาและวันหยุด
- 2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำโดยแนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิค สำหรับเวลาที่เหมาะสมควรเป็นช่วงเวลาเช้าและไม่ควรออกกำลังกายก่อนเวลานอน 2 ชั่วโมง
- 3. สร้างบรรยากาศห้องนอนที่เหมาะสมโดยมีความเงียบสงบและไม่ร้อนไปหรือหนาวไป
- 4. ควรปิดไฟขณะนอนหลับ
- 5.ใช้เตียงนอนสำหรับการนอนหรือกิจกรรมทางเพศเท่านั้นไม่แนะนำให้ทำกิจกรรมอื่นบนเตียงเช่น ดูโทรทัศน์, อ่านหนังสือ เป็นต้น
- 6.ก่อนเวลานอนซัก 1 ชั่วโมงควรผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลงสบายๆ, อ่านหนังสือ, นั่งสมาธิ, ทำกิจกรรมเบาๆ ที่ทำให้ไม่ตื่นเต้นและไม่เครียด
- 7. ไม่ควรทำกิจกรรมที่ผลทำให้ตื่นเต้นก่อนนอน เช่น เล่นอินเตอร์เนต, เล่นเกมส์, ดูโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ ที่มีความตื่นเต้น
- 8. ไม่ควรดื่มชา,กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการนอน
- 9. ไม่ควรทานอาหารมื้อใหญ่ อย่างน้อย 4 ชม. ก่อนการนอนหลับ
- 10.สามารถนอนงีบได้ในเวลากลางวันโดยงีบไม่เกิน 20 นาทีและไม่ควรงีบหลับหลังบ่ายสามโมง
- 11.ระหว่างนอนหลับไม่ควรดูนาฬิกาเนื่องจากจะทำให้เกิดความกังวล
- 12. ไม่ควรดื่มน้ำมากกว่า 1 แก้วก่อนนอนและแนะนำให้ปัสสาวะก่อนเข้านอน
- 13. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยให้หลับถึงแม้ว่าจะช่วยให้หลับได้แต่ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ หากจะดื่มแนะนำให้ดื่มอย่างน้อย 4 ชม. ก่อนเข้านอน
- 14.หลีกเลี่ยงเลี่ยงแสงจ้าในตอนเย็นและพยายามรับแสงในตอนเช้า เช่นเปิดหน้าต่างรับแสงในตอนเช้า
หลีกเลี่ยงการดูนาฬิกาในระหว่างการนอนเนื่องจากทำให้กังวล
การควบคุมสิ่งเร้า (Stimuli control) การควบคุมสิ่งเร้าเพื่อให้ห้องนอนมีแรงจูงใจในการนอนหลับ เช่น ไม่ควรทำกิจกรรมอื่นนอกจากการนอนหรือมีเพศสัมพันธ์บนเตียง,งดนอนบนเตียงถ้ายังไม่ง่วง,ลุกออกจากเตียงเมื่อผ่านไปแล้ว 20 นาทีถ้ายังไม่หลับและทำกิจกรรมเบาๆ นอกเตียง, ลุกจากเตียงเมื่อตื่นนอนตอนเช้าแล้วในเวลาที่สม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการงีบหลับกลางวัน เป็นต้น
การสร้างความผ่อนคลาย (Relaxation) เป็นการสร้างความผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การนอนหลับ เช่น การนั่งสมาธิ, ฟังเพลงบรรเลง, ฝึกกำหนดลมหายใจ เป็นต้น
การปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy for Insomnia/CBTi) เราเชื่อว่าความคิดที่เกิดขึ้นมีผลต่อพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงด้วยเหตุนี้เองการเปลี่ยนแปลงความคิดหรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องบางอย่างจะมีผลทำให้พฤติกรรมการนอนหลับดีขึ้น และที่สำคัญผู้ป่วยจะมีภาวะความกังวลกับการหลับลดลง อาทิ เช่น ความเชื่อที่ว่าต้องนอนหลับ 8 ชั่วโมงต่อวัน, การหลับได้เยอะทำให้ร่างกายแข็งแรง เป็นต้น
การรักษาภาวะนอนไม่หลับโดยใช้ยา ประกอบไปด้วยยากลุ่มต่างๆดังต่อไปนี้
1. Benzodiazepine
กลุ่มยาดังกล่าวเป็นกลุ่มยาที่ใช้บ่อยในเวชปฏิบัติ ถ้าแบ่งคร่าวๆ จะเเบ่งเป็นกลุ่มที่ออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว สำหรับกลุ่มที่ออกฤทธิ์สั้น ได้แก่ lorazepan, triazolam ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่นอนหลับยากในช่วงแรก (initial insomnia) อย่างไรก็ตามการใช้ยากลุ่มนี้ที่ออกฤทธิ์เร็วเช่น Alprazolam, Midazolam อาจเกิดการขาดยาได้ง่ายจึงถอนยาออกได้ยาก โอกาสติดยาสูง จึงต้องระวังการใช้อย่างมาก สำหรับ กลุ่มยาที่ออกฤทธ์นานเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาหลับไม่สนิทระหว่างคืนหรือตื่นเร็วกว่าปกติ เช่น clonazepam, diazepam เป็นต้น
สำหรับผลข้างเคียงของยากลุ่มดังกล่าวได้แก่ การกดประสาททำให้บางทีมีอาการง่วงต่อเนื่องกลางวัน, กระบวนการคิดและตัดสินใจลดลง, การศูนย์เสียความจำแบบไปข้างหน้า(anterograde amnesia), ภาวะสับสน, ละเมอ, เดินเซ เป็นต้น การใช้ยาในผู้สูงอายุอาจลดขนาดและต้องระวังผลข้างเคียงอย่าง สิ่งสำคัญการรับประทานยากลุ่ม นี้ต่อเนื่องเกินสองสัปดาห์มีโอกาสเกิดการดื้อยา และเกิดอาการขาดยาได้เมื่อหยุดการให้ยา
2. Non- Benzodiazepine เช่น Zolpidem เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์เร็ว ดูดซึมได้ดี อย่างไรก็ตามอาจต้องระวังผลข้างเคียงเช่น ง่วงซึม,มึนศีรษะ หรือ ละเมอ
3. ยาต้านซึมเศร้า เช่น Trazodone , Mirtazapine ซึ่งยาดังกล่าวนอกจากมีผลเรื่องการปรับอารมณ์ แล้วยังมีกลไกการออกฤทธ์ช่วยการหลับ
4. ยากลุ่ม melatonin เป็นสารที่สังเคราะห์ภายในร่างกายมีบทบาทช่วยให้เกิดการนอนหลับ ปัจจุบันมีการผลิตยาที่อยู่ในรูปเมลาโทนินภายนอกร่างกายใช้เพื่อช่วยการนอนหลับ
กล่าวโดยสรุปการรักษาภาวะนอนไม่หลับประกอบไปด้วยการใช้ยาและการปรับพฤติกรรมการคิด สำหรับการใช้ยาพบว่าได้ผลเร็วแต่ต้องระวังผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นแพทย์ควรเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับสภาวะผู้ป่วย ส่วนการปรับ พฤติกรรมการปรับวิธีคิดเป็นการรักษาที่ให้ผลต่อเนื่องระยะยาวแต่อาจจะใช้เวลาในการเห็นผลช่วงแรก
ขอบคุณข้อมูลจาก
นายแพทย์สิริชัย กิตติชาญธีระ
แพทย์คลินิคโรคการนอนหลับ/ศูนย์ตรวจการนอนหลับ/ประสาทแพทย์
ศูนย์สมองและระบบประสาท