อาการมือชา

อาการมือชา เป็นอาการที่พบได้บ่อย และเกิดอาการได้หลายสาเหตุ เช่น กระดูกคอเสื่อม กล้ามเนื้อคอและสะบักเกร็งตัวหรือ มีพังผืดที่ข้อมือกดรัดเส้นประสาทมีเดียน

   เกิดจากโรคพังผืดที่ข้อมือกดรัดเส้นประสาท โรคนี้มักพบในคนที่ต้องใช้มือหรือข้อมือมากๆ ในชีวิตประจำวัน หรือมีโรคประจำตัวอื่นที่มีผลต่อปลายประสาท เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ เป็นต้นนอกจากนี้ยังพบได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะระยะใกล้คลอดอีกด้วย โรคนี้เกิดจากพังผืดซึ่งคนเรามีเป็นปกติบริเวณอุโมงค์ข้อมือหนาตัวขึ้น และไปกดทับเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ซึ่งลอดใต้พังผืดนี้ผ่านเข้าอุโมงค์ข้อมือ (Carpal tunnel)

อาการแบ่งเป็น

   ผู้ที่เป็นโรคนี้ในระยะแรกมักมีอาการชาที่ปลายนิ้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง อาการจะเป็นๆ หายๆ โดยมีอาการมากในเวลากลางคืน ผู้ป่วยบางรายอาจต้องตื่นมาสะบัดมือ เพื่อให้อาการชาน้อยลง นอกจากนี้จะมีอาการมากขึ้นในขณะที่ทำงานที่ต้องใช้มือ เมื่อโรคดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการรักษา จะมีอาการชาในบริเวณกว้างขึ้นและเป็นถี่ขึ้น จนกระทั่งชาตลอดเวลา และเริ่มมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมือ สังเกตได้จากหยิบจับของหล่นจากมือ  ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นกล้ามเนื้อบริเวณเนินฐานนิ้วหัวแม่มือลีบเล็กลงเรื่อยๆ
   ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เสียแต่เนิ่นๆเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที การตรวจวินิจฉัยที่ถือเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน คือ การตรวจกล้ามเนื้อ และเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (Electrodiagnosis) การตรวจด้วยวิธีนี้นอกจากจะช่วยยืนยัน การวินิจฉัยแล้วยังช่วยบอกระยะและความรุนแรงของการบาดเจ็บ ของเส้นประสาทซึ่งจะช่วยในการวางแผนการรักษา ที่เหมาะสมต่อไป
 การรักษา

   ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรค แนวทางการรักษาประกอบด้วยการรักษาโดยไม่ผ่าตัดและการรักษาโดย การผ่าตัด

การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

1. การรักษาโดยการใช้ยาได้แก่ วิตามินบีเข้มข้น  เพื่อบำรุงปลายประสาทยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่ยาประเภทสเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อลดการอักเสบ นอกจากนี้แพทย์อาจใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ ฉีดเข้าบริเวณอุโมงค์ ข้อมูลเพื่อลดอาการอักเสบ 

2. การรักษาด้วยวิธีทางกายภาพได้แก่ การทำอัลตราซาวด์ หรือแช่น้ำร้อน  เป็นต้น 

3. การใช้อุปกรณ์ช่วยขณะทำงาน ใช้ผ้าพันรอบมือขณะทำงาน

การรักษาโดยการผ่าตัด
   หากมีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวันหรือมือลีบและอ่อนแรง หรือทำการรักษาโดยใช้ยาไม่ได้ผลอาจพิจารณารักษาโดยวิธีการผ่าตัด  อย่างไรก็ตามการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนี้ไม่ใช่การผ่าตัดที่น่ากลัว ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย  โดยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาลซึ่งจะมีแผลผ่าตัดยาวประมาณ 1 นิ้ว  บริเวณฝ่ามือส่วนต้น 
ข้อแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย
1. พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้มือ และข้อมือมากๆ โดยเฉพาะในท่างอเข้า หรือกระดกข้อมือขึ้น
2. ปรับเปลี่ยนโต๊ะหรือเก้าอี้ให้เหมาะสม หรือเสริมอุปกรณ์สำหรับพับข้อมือเวลาเขียน พิมพ์งานและใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อให้ข้อมือไม่ต้องกระดกขึ้นหรือลงมากเวลาใช้งาน
3. ออกกำลังกายเคลื่อนไหวมือบ่อยๆ

 นพ.ชัชวาล ปิยะวรรณสุทธิ์
ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เฉพาะทางศัลยกรรมกระดูกสันหลัง