อาการข้อไหล่ติด

อาการข้อไหล่ติด (Frozen Shoulder)

   ภาวะข้อไหล่ติด เป็นภาวะที่พบได้บ่อยพบได้ประมาณ 2% ของประชากร โดยสาเหตุไม่ทราบแน่ชัดแต่ทางทฤษฎี แบ่ง 2 สาเหตุใหญ่

1.ชนิดปฐมภูมิ : ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากปฏิกิริยา ของภูมิคุ้มกันในร่างกาย (Autoimmune reaction) ซึ่งโดยปกติระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย จะช่วยป้องกันอวัยวะต่างๆ จากเชื้อโรคและความผิดปกติอื่นๆ เช่น มะเร็งแต่เมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำหน้าที่ผิดปกติ โดยการโจมตีเนื้อเยื่อตนเองทำให้เกิดการอักเสบต่ออวัยวะนั้น เช่นที่ข้อไหล่เยื่อหุ้มข้อทำให้เกิดการอักเสบ และหดรัดแข็งตัวของไหล่ได้

2.ชนิดทุติยภูมิ : ชนิดที่มีสาเหตุ เช่น เกิดจากอุบัติเหตุเอ็นข้อไหล่ฉีกอักเสบ (Rotator cuff tendinitis)กระดูกหักรอบข้อไหล่ หรือจากภาวะโรคเชื้อรังเช่น โรคไทรอยด์  เบาหวาน หรือภาวะโรคPakinsonism หรือในภาวะระยะพักฟื้นของผู้ป่วยเรื้อรัง

พบได้ในกลุ่ม
ผู้หญิงมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ช่าย
ในกลุ่มอายุ 40-60 ปี
ผู้ป่วยเบาหวานพบได้ 20-30 %
ข้อไหล่ข้างที่ไม่เด่น พบบ่อยกว่า
การดำเนินของโรค

1.ระยะการอักเสบ เป็นระยะที่มีอาการปวดข้อไหล่ มากสุด โดยเฉพาะจะมีอาการปวดเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อไหล่ จะปวดมากเวลากลางคืน หรือนอนทับข้อหัวไหล่ด้านที่มีปัญหา ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 2-9 เดือน

2.ระยะติดแข็ง ข้อยึดติด อาการปวดจะลดลง  จะมีอาการปวดตื้อๆ ได้ตลอดวัน บางครั้งอาจมีอาการปวดแปล็บเวลาเคลื่อนไหว แต่การเคลื่อนไหวข้อไหล่ลดลง เช่น ไม่สามารถไขว้แขนไปด้านหลังได้ ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 4-12 เดือน

3.ระยะเริ่มฟื้นตัว คลายตัว เป็นระยะที่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้มากขึ้น อาการปวดจะลดลง จะใช้เวลาประมาณ 12-42 เดือน ซึ่งบ่อยครั้งที่การฟื้นตัว ไม่เท่ากับปกติสมบูรณ์ได้ และแพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้วิธีการดัดข้อไหล่ ภายใต้การดมยาสลบ หรือการผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อสลายพังผืดที่ยึดเพื่อช่วยลดเวลาการหายให้เร็วขึ้น

การรักษา
   เพื่อบรรเทาต่อการเจ็บปวด และสามารถกลับมาเคลื่อนไหวของข้อไหล่ได้คืนดังเดิม ฉะนั้นผู้ป่วยจะต้องมีความอดทนต่อการรักษา เนื่องจากต้องใช้เวลานานมากอย่างน้อย 12-18 เดือน แต่โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 90% รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด

1.ระยะแรกแพทย์จะให้ยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบ โดยทั่วไปจะยังไม่ให้ไปนวดหรือกายภาพบำบัด เนื่องจากจะทำให้การอักเสบมากขี้นจนกว่าอาการปวดทุเลาจึงเริ่มให้บริหารข้อไหล่เองที่บ้าน

2.บางครั้งอาการปวดมีอยู่และอาจทำให้การบริหารเองไม่ได้เท่าที่ควร แพทย์อาจแนะนำการฉีดยาประเภทสเตียรอยด์ เข้าไปที่ข้อไหล่ที่มีการอักเสบ บางครั้งหากมีอาการข้อไหล่ยึดติดอยู่ซึ่งเป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือใช้เวลาการรักษายาวนานมาก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการดัดข้อไหล่ภายใต้การดมยาสลบ

3.บางกรณีซึ่งพบได้ประมาณ 9 % ไม่สามารถรักษาโดยการใช้ยา การกายภาพบำบัดหรือแม้แต่การดัดข้อได้ หรือในกรณีที่กระดูกผู้ป่วยบางมาก การดัดข้ออาจทำให้กระดูกหักได้ แพทย์จะแนะนำการรักษาโดย การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อตัดเนื้อเยื่อพังผืดออก แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีดัดข้อไหล่ หรือผ่าตัด หลังจากนั้นผู้ป่วยต้องเริ่มกายภาพบำบัดต่อทันทีที่ทุเลาปวด

ท่าบริหารเพื่อป้องกันอาการข้อไหล่ติด

ท่าที่ 1 เหยียดแขนเหนือศีรษะ 
ยกแขนข้างที่ข้อไหล่ติด เหยียดแขนตรงขึ้นไปทางศีรษะใช้มืออีกข้างหนึ่งพยุงข้อศอก และออกแรงดันแขนไปทางศีรษะ แล้วค่อยๆเพิ่มแรงดันทีละน้อยเพื่อให้แขนเคลื่อนไปทางศีรษะได้มากที่สุด

 

ท่าที่ 2 ผ้าถูหลัง 
ใช้ผ้าเช็ดตัวพาดผ่านไหล่ ไปทางข้างหลัง  ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับชายผ้าด้านหนึ่งไว้ขยับมือทั้งสองข้างขึ้นลง พร้อมๆกัน  ในจังหวะเดียวกันและทำอีกข้างหนึ่งโดยการสลับมือ
 
ท่าที่ 3 เหยียดแขนข้างลำตัวให้ผู้ป่วยนั่งหรือยืน
โดยเหยียดและยกแขน ข้างที่ข้อไหล่ติดมาด้านหน้าพร้อมทั้งงอแขน เข้าหาลำตัวโดยให้แขนขนานกับพื้น  ใช้มืออีกข้างหนึ่งพยุงข้อศอก และออกแรงดันแขนไขว้เข้าหาลำตัวให้มากที่สุด

 

 

 

 

ท่าที่ 4 ยืน
ยืนบริเวณประตูหรือใกล้โต๊ะให้มือข้างที่หัวไหล่มีปัญหา เกาะขอบประตูหรือโต๊ะไว้ให้มั่นคง งอข้อศอกประมาณ 90 องศาและข้อศอกต้องแนบข้างลำตัวอย่างมั่นคงและเริ่มหมุนตัวโดยใช้มือและข้อศอกต้องอยู่กับที่ดังรูป โดยให้คงท่าลักษณะนี้ประมาณ 30 วินาที หรือมากกว่านั้น ถ้าไม่มีอาการล้าของแขน

 

 

 

นพ.ชัชวาล ปิยะวรรณสุทธิ์
ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เฉพาะทางศัลยกรรมกระดูกสันหลัง