การรับประทานอาหารสำหรับคุณแม่ในระยะตั้งครรภ์และให้นมบุตร เป็นสิ่งสำคัญที่ร่างกายต้องการ ทั้งปริมาณอาหาร และคุณค่าทางโภชนาการสูงสำหรับผลิตน้ำนมเลี้ยงบุตรได้เพียงพอ รวมทั้งเสริมสร้างและซ่อมแซมสุขภาพของแม่ให้สมบูรณ์
น้ำนมแม่ที่แท้จริง จะเริ่มผลิตขึ้นมาภายใน 4-5 วันหลังคลอด เมื่อเริ่มมีน้ำนมในระยะ 2-3 วันแรก น้ำนมจะมีสีเหลืองใส และมีปริมาณเล็กน้อย แต่เพียงพอสำหรับทารกแรกเกิด เป็นน้ำนมที่มีโปรตีนสูง มีภูมิคุ้มกันโรค และมีสารป้องกันการติดเชื้อ เช่น โรคหวัด ท้องเสีย และโรคภูมิแพ้ต่างๆ เพราะทารกแรกเกิด ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น เด็กที่กินนมแม่จึงได้รับภูมิคุ้มกันโรคมากกว่าเด็กที่กินนมผง
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีประโยชน์ คุ้มค่า ลดค่าใช้จ่าย มีสุขภาพจิตที่ดีต่อแม่ เพราะขณะที่แม่ให้นมลูก ร่างกายแม่จะหลั่ง ฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน ซึ่งมีผลดีต่ออารมณ์ ทำให้เกิดความสุข และยังช่วยให้คุณแม่ลดน้ำหนักได้เร็วขึ้น เพราะไขมันที่สะสมจะถูกนำมาใช้ในการสร้างน้ำนมเลี้ยงทารก พร้อมทั้งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งปากมดลูกได้
ข้อแนะนำการรับประทานอาหารเพื่อให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอและมีคุณค่าสูงสุด
- 1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
- 2. ดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2–3 แก้ว
- 3. เลือกอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ สะอาด และปราศจากสารปนเปื้อน
- 4. ควรเลือกรับประทานข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือแทนข้าวขาว (ได้รับคุณค่าทางอาหารมากกว่าข้าวขาว )
- 5. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 10–12 แก้ว
- 6. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารหมักดองต่างๆ เช่น แหนม ปลาส้ม ผักดอง ผลไม้ดอง
- 7. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพลังงานสูง เช่น ขนมหวาน อาหารที่มีกะทิ รสหวานจัด น้ำหวาน เครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด
- 8. งดสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- 9. หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลม
- 10. ออกกำลังกายโดยการทำงานไม่หนักจนเกินไป เช่น ทำงานบ้าน
- 11. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
- 12. ถ้ามีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์
ขอบคุณข้อมูลจาก
แผนกโภชนบำบัด
โรงพยาบาลนนทเวช