“โรคลมชัก” เป็นโรคสมองในเด็กที่พบได้บ่อย
และมักสร้างความกังวลใจให้กับบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล
เมื่อลูกน้อยลืมตามาดูโลกย่อมนำมาซึ่งความยินดีในครอบครัว และเมื่อลูกน้อยค่อยๆ โตขึ้นคุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญกับอันตรายหรือโรคร้ายแรงต่างๆ ยิ่งหากเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคสมองในเด็กที่พบได้บ่อย เช่น “โรคลมชัก” ที่ส่งผลให้พัฒนาการของเด็กล่าช้า กระทบทั้งด้านการเข้าสังคม และการเรียน ดังนั้นคุณพ่อแม่ควรต้องทำความเข้าใจ “โรคลมชัก” หนึ่งอันตรายของโรคสมองในเด็ก เพื่อพร้อมรับมือได้ทันท่วงที
"โรคลมชัก" หนึ่งอันตรายโรคสมองในเด็กที่พบบ่อย เป็นอาการชักที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมอง ดังนั้น แม้ไม่พบความผิดปกติทางกายภาพของสมองก็สามารถทำให้เกิดโรคลมชักได้ หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพเหมือนเรามองเห็นหน้าคนคนหนึ่ง และพบว่าคนคนนั้นมีลูกตา 2 ข้างปกติ แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าการทำงานของสายตาของคนคนนี้เป็นอย่างไร สายตาสั้น ยาว หรือเอียงหรือไม่ เช่นเดียวกันกับสมอง ดังนั้น การไม่พบความผิดปกติของสมองจากภาพถ่ายรังสี ไม่ได้เป็นตัวบ่งถึงการทำงานผิดปกติของสมองได้ทั้งหมด
สาเหตุของโรคลมชักในเด็ก
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าโรคลมชัก คือ การทำงานผิดปกติของสมอง โดยอาจพบหรือไม่พบความผิดปกติจากภาพถ่ายรังสีก็ได้ ซึ่งสามารถแจกแจงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักได้ ดังนี้
- 1.ความผิดปกติของขั้นตอนการสร้างสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (congenital anomaly)
- 2.ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการทำงานหรือโครงสร้างสมอง (genetic disease)
- 3.ความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อน ก่อนคลอด ระหว่างคลอดหรือหลังคลอด เช่น การติดเชื้อในครรภ์ การขาดออกซิเจนระหว่างคลอด เป็นต้น
- 4.เกิดจากภูมิต้านทานของตัวเอง (autoimmune disease)
- 5.การมีก้อนเนื้องอกในสมอง หรือเซลล์ที่เจริญเติบโตเร็วในสมองในบางกลุ่มอาการของโรคบางโรค
- 6.การติดเชื้อในสมอง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาจากการติดเชื้อ
- 7.ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
อาการของโรคลมชักในเด็ก
แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
- 1.อาการชักแบบเฉพาะที่ ลักษณะอาการชักจะขึ้นอยู่กับจุดกำเนิดชักว่าอยู่ส่วนใดของสมอง เช่น ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ อาการชักมักจะมาด้วยอาการเกร็ง หรือกระตุก หรืออ่อนแรง หากจุดกำเนิดอยู่ที่ตำแหน่งการควบคุมความรู้สึก อาจมาด้วยอาการชา หรืออาการรับรู้มากกว่าปกติ เช่น ปวดเจ็บ หรือรู้สึกมีอะไรมาไต่ หากจุดกำเนิดอยู่ที่ตำแหน่งควบคุมการมองเห็น ก็อาจมาด้วยอาการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น มองเห็นแสง หรือมองไม่เห็น เป็นต้น
- 2.อาการชักแบบทั้งตัว เช่น เกร็ง กระตุกทั้งตัว หรือที่เราคุ้นเคยเรียกว่าลมบ้าหมู หรืออาการชักแบบเหม่อ เรียกไม่รู้ตัว เป็นต้น
อันตรายจากการชัก
โดยทั่วไปของโรคลมชัก หากปล่อยให้ชักและไม่รักษา ส่วนใหญ่จะมีผลต่อพัฒนาการของผู้ป่วยในระยะยาว หรือถ้าลักษณะชักเป็นแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว จะส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนได้ ทำให้การควบคุมอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายล้มเหลว เช่น การทำงานของระบบทางเดินหายใจและหัวใจ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคลมชัก
ปกติการวินิจฉัยโรคลมชักจะวินิจฉัยโดยอาการ คือ หากมีการชักโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น เช่น ความผิดปกติของเกลือแร่ เป็นต้น อย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป ก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก หรือหากมีอาการชักโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น เพียง1ครั้ง แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ชักซ้ำสูง ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักเช่นกัน
วิธีการรักษาโรคลมชัก
ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคลมชักหลายวิธี แต่สามารถแบ่งออกเป็น 2 หลักใหญ่ คือ
- 1.การรักษาโดยการใช้ยากันชัก แพทย์จะเลือกการให้ยากันชักเป็นแนวทางแรกของการรักษา ปัจจุบันมียากันชักหลากหลายชนิด ซึ่งการเลือกใช้ยากันชักก็จะเลือกตามความเหมาะสมของชนิดการชัก และผลข้างเคียงของยา เป็นต้น
- 2.การรักษาโดยวิธีอื่นที่นอกเหนือจากการใช้ยากันชัก เช่น การผ่าตัดสมอง การใส่เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทคู่ที่ 10 หรือการให้อาหารแบบคีโตน เป็นต้น
แนวทางการรับมือ และการป้องกัน "โรคลมชัก" อันตรายของโรคสมองในเด็ก
หากเด็กมีอาการที่ไม่แน่ใจว่าชัก หรือผู้ปกครองคิดว่าชัก ควรรีบพามาปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด
เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผู้ปกครองสามารถถ่าย VDO อาการที่ไม่แน่ใจว่าชัก หรืออาการชักมาให้แพทย์ดู เพื่อประกอบการรักษาเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาได้
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเด็กมีอาการชัก โดยเฉพาะอาการชักเกร็งกระตุกไม่รู้สึกตัว
- 1.พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องตั้งสติ
- 2.พยายามจัดสถานที่ให้เด็กอยู่ในที่ปลอดภัย
- 3.คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่ให้หลวมผ่อนคลาย อย่ายืนมุง
- 4.ให้เด็กนอนตะแคงหน้า หรือตะแคงตัวและหน้า เพื่อเปิดทางเดินหายใจ และป้องกันการสำลัก
- 5.ห้ามนำวัตถุใดๆ ใส่เข้าไปในปากเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในช่องปากได้
ผู้ปกครองควรดูแลให้เด็กหลีกเลี่ยง ปัจจัยที่กระตุ้นทำให้ชักมากขึ้น เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ การมีไข้ การขาดอาหาร ความเครียด เป็นต้น
นอกจากนี้ควรดูแลให้เด็กหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ หากมีอาการชักในระหว่างที่ทำกิจกรรมดังกล่าว ได้แก่ ว่ายน้ำ ปีนขึ้นที่สูง ปั่นจักรยาน เป็นต้น
หากได้รับการวินิจฉัยจากกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาทวิทยาและโรคสมองในเด็กว่าเป็น "โรคลมชัก" ควรให้เด็กทานยาสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเอง และทำตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
ผศ.พญ.อัจฉราพร เมฆศิขริน
กุมารแพทย์ระบบประสาทวิทยา
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช