
ต้นฤดูหนาวในช่วงอากาศเย็นระหว่างเดือนตุลาคมเป็นต้นไป มักพบว่ามีการระบาดของโรคสุกใสเนื่องจากเป็นโรคที่ระบาดได้ง่ายในอากาศเย็น โดยเฉพาะในโรงเรียน หรือ สถานรับเลี้ยงเด็ก โรคสุกใสเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ชื่อวาริเซลลา (Varicella virus) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับการเกิดโรคงูสวัด
การติดต่อของโรคสุกใส
ไวรัสสุกใสจะอยู่ในตุ่มน้ำของผู้ที่เป็นสุกใสหรืองูสวัด และอาจพบได้ในน้ำลายหรือเสมหะ สามารถติดต่อแพร่กระจายได้ง่าย โดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย รวมทั้งยังสามารถติดต่อผ่านสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อแบบเดียวกับไข้หวัด ดังนั้น จึงสามารถติดต่อจากผู้ป่วยได้โดยการไอ หรือ จาม ระยะฟัวตัว เฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์ แต่อาจจะนานจนถึง 1 เดือนได้
อาการของโรคสุกใส
มักเป็นในเด็ก เนื่องจากผู้ใหญ่มักมีภูมิต้านทานแล้ว มีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย ผู้ป่วยมักมีตุ่มใสขึ้น มักขึ้นที่ใบหน้าบริเวณไรผม แล้วกระจายไปที่ลำตัวและแขนขา ระยะแรกผื่นจะมีลักษณะเป็นผื่นสีแดงเล็กๆ ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูนและตุ่มน้ำใสขนาด 2-3 มิลลิเมตร โดยมีลักษณะสำคัญคือ เป็นตุ่มใสขึ้นเป็นกลุ่มบริเวณใบหน้าและลำตัว ซึ่งตุ่มใสนี้มีลักษณะ ไม่มีจุดบุ๋มบนตุ่มใส (non-umbilicate lesion) ตุ่มมักมีอาการคัน แตกง่าย เมื่อเป็นอยู่ 5-7 วันจะเริ่มเป็นสะเก็ดและหลุดหายไปในที่สุด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์โดยไม่เป็นแผลเป็น ยกเว้นกรณีแผลติดเชื้อ ก็อาจกลายเป็นแผลได้ นอกจากนี้ ในบางคนยังมีตุ่มขึ้นบริเวณเยื่อบุช่องปากได้ ทำให้มีอาการเจ็บปาก เจ็บคอได้ด้วย
การวินิจฉัยโรคสุกใส
แพทย์สามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีอื่นๆเพิ่มเติม แต่หากมีข้อสงสัย สามารถตรวจเลือดดูเชื้อสุกใสหรือดูภูมิต้านทาน รวมทั้งยังสามารถเอาเนื้อเยื่อในตุ่มใสมาส่องดู เพื่อหาลักษณะเฉพาะของเชื้อสุกใสได้อีกด้วย
การรักษาและปฏิบัติตัว
ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายเองได้ แต่ในปัจจุบันมียาต้านไวรัสสุกใส ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนลง โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ เพราะโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส การรักษาจึงเป็นเพียงการใช้ยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแผล
เนื่องจากโรคสุกใสเป็นเชื้อไวรัส ที่แม้ปกติจะไม่รุนแรง แต่สำหรับผู้สัมผัสโรคที่มีความเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยเป็นสุกใสมาก่อน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด และผู้ที่เป็นมะเร็งในระยะที่กำลังรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด รวมทั้งทารกแรกคลอด หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลที่เป็นสุกใส หากจำเป็นต้องรักษา แพทย์อาจฉีดสารเพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน (Varicella Zoster immune globulin (VZIG))
การป้องกันการแพร่กระจายของโรค
- • ควรแยกผู้ป่วยออกจากผู้ที่ยังไม่เคยเป็น หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
- • ควรหยุดเรียน หยุดงาน และไม่ไปในที่ชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่น โดยระยะเวลาแพร่เชื้อให้คนอื่น คือตั้งแต่ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นขึ้น จนกระทั่งถึง 6 วันหลังผื่นขึ้น
การป้องกันโรคสุกใส
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคสุกใส ถ้าฉีดครบถูกต้อง จะสามารถป้องกันโรคได้มากกว่า 90% โดยฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรกอายุ 1 ปี และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 4 ปีขึ้นไป หากมีความจำเป็น ให้ฉีดเข็มที่สองห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน วัคซีนสุกใสฉีดได้ทุกอายุ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย มีการฉีดแพร่หลายทั่วโลกมากกว่า 20 ปี
กรณีถ้าเป็นผู้ใหญ่หรืออายุมากกว่า 13 ปี ให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
สำหรับบุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใส เมื่ออายุมากขึ้น จะพบว่ามีโอกาสเป็นโรคงูสวัดน้อยกว่าบุคคลที่เป็นโรคสุกใสตามธรรมชาติ และความรุนแรงน้อยกว่าด้วย ดังนั้นจึง ขอแนะนำผู้ที่ยังไม่เคยเป็นสุกใสมาก่อนทุกคน ให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคสุกใส