มะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงทั่วโลกและเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย แต่เนื่องจากปัจจุบันผู้หญิงยุคใหม่มีความตื่นตัวในการตรวจสุขภาพมากขึ้น และมีการพัฒนาคุณภาพของเครื่องมือการตรวจที่ทันสมัยขึ้นทำให้เราสามารถพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ ได้เร็วขึ้น ทำให้เปอร์เซ็นต์การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นมีมากขึ้น การรักษาให้หายจึงมีมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมแท้จริง แล้วยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงทำให้ไม่ทราบวิธีที่ป้องกัน ยกเว้นในกรณีที่เป็นกรรมพันธุ์ซึ่งทราบสาเหตุแน่ชัดซึ่งเราสามารถป้องกันได้
ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งเต้านม
1.ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
- • เพศหญิงจะเป็นมากกว่าชาย
- • เชื้อชาติ ยุโรป ยิว จะเป็นมากกว่าคนเอเชีย
- • อายุ อายุมากกว่า 40 ปี จะมีความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมสูงขึ้น
- • กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือรู้ว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีการถ่ายทอดได้
- • ประวัติการมีประจำเดือนเร็ว หรือหมดประจำเดือนช้าจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น
2.ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้
- • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- • การรับประทานอาหารประเภทไขมันสูง
- • ความอ้วน
- • การได้รับยาทดแทนฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิดบางชนิดเป็นระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น
เราสามารถเลี่ยงการเป็น “มะเร็งเต้านม” ได้ คือ ควรเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งเต้านมที่เลี่ยงได้ และหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นให้ได้เร็ว โดยทั่วไปจะแนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตนเอง แต่มีการศึกษาจากต่างประเทศพบว่าการตรวจเต้านมด้วยตนเองพบมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นได้น้อย แต่ถูกนำมาแนะนำให้ใช้ในประเทศเรา เนื่องจากมีอุบัติการณ์การเกิดโรคยังต่ำ คือ 30 ต่อแสนเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกซึ่งพบมากถึง 100 ต่อแสน อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ใส่ใจต่อสุขภาพ การตรวจคัดกรองเพื่อหามะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะทำให้โอกาสที่จะรักษาโรคระยะแรกให้หายขาดได้มากขึ้น
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่มีมาตรฐาน ประกอบด้วย
- 1.การตรวจด้วยแพทย์หรือบุคลลากรที่ได้รับการอบรมโดยเฉพาะด้วยการคลำเต้านม
- 2.การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเอกซ์เรย์แมมโมแกรมและ/หรืออัลตร้าซาวด์ หรือตรวจด้วยเครื่องมืออื่นๆ เพิ่มเติมตามความจำเป็น เช่น เครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- 3. การตรวจด้วยชิ้นเนื้อหรือเซลล์ สำหรับบางคนที่ตรวจพบโดยการคลำหรือพบสิ่งผิดปกติที่พบโดยเครื่องเอกซ์เรย์แมมโมแกรมและ/หรืออัลตร้าซาวด์ ในบางรายจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการนำชิ้นเนื้อไปส่งตรวจ การตรวจที่แม่นยำควรประกอบด้วยการตรวจทั้ง 2-3 อย่าง คือ ตรวจด้วยแพทย์ร่วมกับแมมโมแกรมและ/หรืออัลตร้าซาวด์หรือบางรายจำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อร่วมด้วย จึงจะให้ความแม่นยำสูง
ขอบคุณข้อมูล : นายแพทย์ชนินทร์ อภิวาณิชย์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์มะเร็งเต้านมและเสริมสร้างเต้านม
โรงพยาบาลนนทเวช