การผ่าตัดเสริมหน้าอก

   ปัจจุบันการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดโดยการฉีดยาชา เช่น การเสริมจมูก ทำตา 2 ชั้น เป็นต้น หรือจะเป็นการผ่าตัดที่ต้องดมยาสลบ เช่น การผ่าตัดเสริมหน้าอก การผ่าตัดดึงหน้า เป็นต้น แต่มีการผ่าตัดที่มีสถิติสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะในกลุ่มคนไทย แต่รวมถึงชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาผ่าตัดในประเทศไทยด้วยนั้น คือ “การผ่าตัดเสริมหน้าอก” โดยเป็นการผ่าตัดเพื่อเพิ่มขนาดของเต้านมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่เพียงแต่เพื่อความสวยงาม แต่ยังรวมไปถึงแก้ไขความผิดปกติที่เกิดจากการรักษามะเร็งเต้านมอีกด้วย

วัตถุประสงค์หลักๆ ของการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งเสริมหน้าอก
  • แก้ปัญหาเต้านมไม่ได้รูปทรงที่สวยงาม ทำขนาดเล็กให้ใหญ่ หรือทำขนาดที่ใหญ่เกินไปให้เล็กลง
  • แก้ปัญหาหย่อนคล้อย สร้างเต้านมใหม่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งหลังตัดเต้านม ปรับเปลี่ยนรูปร่าง และขนาดของหัวนมก็สามารถทำได้ด้วย
ซิลิโคนสำหรับการเสริมหน้าอก สามารถแบ่งชนิดได้ตามรูปทรง ดังนี้
  • ซิลิโคนเสริมหน้าอกทรงกลม เป็นลักษณะที่เลือกใช้กันมากที่สุด
  • ซิลิโคนเสริมหน้าอกทรงหยดน้ำ เหมาะสำหรับรูปร่างสูงบาง ลดปัญหาเต้านมทรงลูกบอล
ขนาดและลักษณะของซิลิโคนสำหรับการศัลยกรรมเสริมหน้าอก 
   เริ่มต้นตั้งแต่ 100 ซีซี ไปจนถึง 800-1000 ซีซี ตามแต่ความเหมาะสม ซึ่งควรได้รับการวิเคราะห์แนะนำโดยศัลยแพทย์ตกแต่งเฉพาะทาง ซึ่งซิลิโคนสำหรับการเสริมหน้าอก สามารถจำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ 
  • ผิวทราย เป็นมาตรฐานที่ใช้กันมากที่สุดในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา แต่ล่าสุดมีรายงานว่า ซิลิโคนสำหรับการเสริมหน้าอกลักษณะผิวเรียบอาจจะมีความเสี่ยงกับการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ (breast implant associated anaplastic large cell lymphoma)
  • ผิวเรียบ ใช้กันดั้งเดิมก่อนมีการผลิตผิวทราย ไม่มีการรายงานว่าเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเม็ดเลือดขาว
สารภายในถุงเต้านมเทียม ปัจจุบันจะมีการใช้งาน เพียง 2 ชนิด คือ
  • ถุงน้ำเกลือ ภายในตัวถุงจะเป็นน้ำเกลือ ซึ่งหากรั่วออกมา ร่างกายสามารถดูดซึมกลับไปได้ทั้งหมด
  • ถุงซิลิโคนเจล ให้สัมผัสที่นุ่มหยุ่นเป็นธรรมชาติมากกว่า หากรั่วออกมาจากตัวถุงหุ้มร่างกาย ไม่สามารถดูดซึมไปได้เอง โครงสร้างเหนียวยึดเกาะกันเอง สามารถลดการกระจายได้เมื่อรั่วซึม
ตำแหน่งการสร้างแผลผ่าตัดเพื่อการศัลยกรรมเสริมหน้าอก
  • แนวแผลผ่าตัดเสริมหน้าอกใต้ฐานขอบใต้ราวนม ได้เต้านมที่ตำแหน่งแม่นเท่ากันที่สุด เกิดการช้ำน้อย และไม่มีโอกาสเกิดปัญหาหัวนมชา หรือท่อน้ำนมอุดตันบาดเจ็บ
  • แนวแผลผ่าตัดเสริมหน้าอกที่รักแร้ ไม่มีรอยแผลบนเต้านม แต่การผ่าตัดค่อนข้างเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะจะมองไม่เห็นจุดเลือดออกขณะผ่าตัด การกำหนดตำแหน่งซิลิโคนแม่นยำต่ำกว่า มีโอกาสเกิดผังผืดมากกว่า เพราะเป็นการเลาะโพรงด้วยการแหวกเนื้อ (blunt dissection) ศัลยแพทย์บางท่านใช้กล้องผ่าตัดร่วมด้วยเพื่อลดปัญหา
  • แนวแผลผ่าตัดเสริมหน้าอกรอบปานนม รอยแผลครึ่งวงกลมตามแนวปานนม มีความเสี่ยงบาดเจ็บเส้นประสาทและท่อน้ำนมมากกว่าวิธีอื่น
  • แนวแผลผ่าตัดเสริมหน้าอกบริเวณสะดือ เป็นวิธีที่แผลเล็กที่สุด และไม่มีแผลบนเนื้อเต้านม ความยากคือการสอดถุงน้ำเกลือผ่านแผลสะดือ และเติมน้ำเกลือจนพองได้รูป ซับซ้อนมากกว่าวิธีอื่นๆ และจำเป็นต้องใช้เครื่องมือผ่านกล้อง ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง
ความลึกของการวางตำแหน่งซิลิโคนเสริมหน้าอก
  • ใต้กล้ามเนื้อ หากเกิดปัญหาพังผืดจะอยู่ในชั้นลึก เต้านมใหม่มีความพุ่งน้อยกว่า เป็นภูเขาฐานกว้างมีความจำเป็นต้องตัดกล้ามเนื้ออกบางส่วนเพื่อสร้างโพรง อาจทำให้กำลังแขนและไหล่ของนักกีฬาลดลงเมื่อเกร็งกล้ามเนื้ออกอาจเห็นเต้านมขยับ
  • ใต้เนื้อเต้านม เจ็บน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็วกว่า เพราะไม่มีการตัดผ่านกล้ามเนื้อ ได้ความพุ่งเป็นเต้ามากกว่า ไม่ทำให้เกิดปัญหาในนักกีฬา

ความเปลี่ยนแปลงในช่วงแรกหลังการผ่าตัดเสริมหน้าอก
  • อาจมีความรู้สึกตึงแน่นบริเวณหน้าอก อาการจะดีขึ้นเองใน 1 - 2 วัน
  • รอยช้ำอาจเกิดขึ้นในบางราย และจะค่อยๆ จางหายไปเอง แต่ไม่ควรจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณของเลือดออกภายใน
  • อาการชาที่หัวนมอาจเกิดขึ้นได้มากในกรณีที่เนื้อถูกยืดด้วยซิลิโคนขนาดใหญ่ แต่ไม่ควรเกิดอาการชานานเกิน 1 - 2 สัปดาห์ในกรณีปกติ

                         

การเตรียมตัวก่อนรับการผ่าตัดเสริมหน้าอก
  • เมื่อตัดสินใจผ่าตัดเสริมหน้าอก ควรได้รับการตรวจหามะเร็งเต้านมอย่างละเอียด
  • งดอาหารเสริมและยาที่อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ 
  • งดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัดเสริมหน้าอก อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
การดูแลตนเองหลังจากการผ่าตัดเสริมหน้าอก
  • หลีกเลี่ยงการขับรถ การยกของหนัก และใช้กำลังแขนหนักใน 1 - 2 สัปดาห์ หลังการผ่าตัดเสริมหน้าอก
  • ทำความสะอาดแผลผ่าตัดตามคำแนะนำของศัลยแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • การพันผ้ารัดหน้าอกมีทั้งผลดีและผลเสีย ควรเลือกพันในกรณีที่ศัลยแพทย์แนะนำ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะจะมีผลกระทบกับการหายของแผล อาจทำให้แผลไม่ติด แผลแยก
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์หลังผ่าตัดเสริมหน้าอก เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดเลือดออกและบวมหลังผ่าตัดเสริมหน้าอก
  • ไม่ควรนวดเต้านมด้วยตัวเอง หากการผ่าตัดทำให้เกิดความช้ำน้อยและหายไว
  • พังผืดอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยหลังผ่าตัดเสริมหน้าอก จึงไม่มีความจำเป็นต้องนวดทุกราย
  • เมื่อจำเป็นต้องนวดในกรณีเต้านมแข็งหรือผิดรูป ควรอยู่ในความดูแลของศัลยแพทย์
  • หลังผ่าตัดเสริมหน้าอกสามารถให้นมบุตรได้ในตามปกติ แต่หากวางแผนตั้งครรภ์แนะนำให้มีระยะเวลาห่างจากการผ่าตัดเสริมหน้าอกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์
  • ประมาณ 1 – 2 เดือนแรก รูปร่างของเต้านมจะใหญ่กว่าขนาดจริง และจะค่อยๆ หย่อยตัวลงเป็นธรรมชาติใกล้เคียงขนาดจริง หลังผ่าตัดเสริมหน้าอก 2 – 3 เดือน
​คำถาม? ยอดฮิต การผ่าตัดเสริมหน้าอก

Q: หลังการผ่าตัดเสริมหน้าอก สามารถให้นมบุตรได้หรือไม่?
A:  เมื่อการผ่าตัดหายดี สมบูรณ์ สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ

Q: หลังการผ่าตัดเสริมหน้าอก ต้องพักฟื้นกี่วัน?
A:  พักที่โรงพยาบาล 1 คืน เพื่อให้ยาปฏิชีวนะ กลับพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 วัน เพื่อปรับตัวการทำกิจวัตรประจำวัน จากนั้นใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ควรเลี่ยงการออกกำลังกายหรือยกของหนัก 1 – 2 เดือน

Q: หลังการผ่าตัดเสริมหน้าอก ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลหรือไม่?
A: หลังผ่าตัดคนไข้ควรได้รับการนอนพักฟื้น 1 คืน เพื่อให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด จนครบ 24 ชม. และมีการเฝ้าระวังการฟื้นตัวหลังดมยาสลบ

Q: อายุซิลิโคนเสริมหน้าอก อยู่ได้กี่ปี?
A: อยู่ได้ตลอดไป หากไม่มีปัญหาแทรกซ้อนหรืออุบัติเหตุรุนแรง

Q: หากมีความจำเป็นต้องนำซิลิโคนเสริมหน้าอกออก ลักษณะของหน้าอกจะเป็นอย่างไร?
A:  แฟบลง อาจเกิดรอยย่นผิดรูป

Q: ผ่าตัดเสริมหน้าอกมาแล้ว พออายุเริ่มมากขึ้น หรือผ่านการให้นมบุตรมาแล้ว รูปร่างของหน้าอกจะหย่อนคล้อย หรือเปลี่ยนแปลงไปมากหรือไม่?
A: อาจหย่อนคล้อยได้ แต่ไม่มากเท่าคนที่ไท่เคยเสริมหน้าอก 

Q: การผ่าตัดเสริมหน้าอกมีโอกาสทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้นหรือไม่?
A: ปัจจุบันหากเลี่ยงซิลิโคนเนื้อทราย จัดว่าเป็นการผ่าตัดที่ไม่สร้างความเสี่ยงกับมะเร็งเต้านม


ข้อมูลโดย: นพ.ศุภฤกษ์ กมลวัทน์ 
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง
27 สิงหาคม 2563