แบบไหนเรียกพัฒนาการผิดปกติ ไม่สมวัยในเด็ก?

แบบไหนเรียกพัฒนาการผิดปกติ ไม่สมวัยในเด็ก?

ใครๆ ก็อยากให้ลูกน้อยมีพัฒนาการสมวัยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ หากพ่อแม่เริ่มสงสัยว่าลูกน้อยมีพัฒนาการผิดปกติไม่สมวัยหรือไม่ และควรทำอย่างไร เรามาหาคำตอบกัน

พัฒนาการเด็กคืออะไร
พัฒนาการ คือ การเปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตทางร่างกาย และจิตใจมีการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญมากหากเด็กมีพัฒนาการปกติ จะสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตและปรับตัวให้เข้ากับสังคม สามารถเพิ่มศักยภาพในการทำงานและหน้าที่ตามวัยให้บรรลุตามเป้าหมาย เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพตลอดจนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
พัฒนาการเด็กเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่
จุดเริ่มต้นของพัฒนาการเริ่มจากโครงสร้างทางกายภาพที่สังเกตเห็นได้ง่าย ชัดเจนไปสู่ระบบที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน จนพัฒนาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบในที่สุด โดยเริ่มได้ตั้งแต่ในครรภ์มารดาไปจนถึงการพัฒนาทักษะการทำงานของสมองระดับสูงที่เรียกว่า "EF" (Executive Function) สมบูรณ์เมื่ออายุ 25 ปี
แบบไหนเรียกพัฒนาการผิดปกติไม่สมวัยในเด็กและผู้ปกครองควรทำอย่างไร
พัฒนาการที่ผิดปกติเกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ คือ

1. พัฒนาการหยุดอยู่กับที่หรือเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อเทียบกับวัยเดียวกัน เช่น เด็กในช่วงขวบปีแรกจะมีการพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายเพิ่มขึ้นทุก 3 เดือน คือ เริ่มมีการชันคอ พลิกคว่ำพลิกหงายนั่ง คลาน หรือเกาะเดิน เดินเอง หากทุก 3 เดือนเด็กยังไม่สามารถทำแต่ละขั้นตอนได้ถือว่าพัฒนาการช้า

2. พัฒนาการถดถอย อะไรที่เคยทำได้กลายเป็นทำไม่ได้ เช่น เคยเรียก "แม่" ได้ตอน 1 ขวบ แต่ต่อมาไม่เรียกอีกเลยและไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายอื่นๆ เพิ่มเติมได้ อย่างนี้ถือว่าพัฒนาการถดถอย

" เพราะสัญญาณเล็กๆ อาจบ่งบอกได้ว่าเด็กพัฒนาการผิดปกติผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตพัฒนาการลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หากเด็กเริ่มมีพัฒนาการช้า ผู้ปกครองควรฝึกฝนลูกน้อยเป็นประจำด้วยตนเองสัก 2 – 3 สัปดาห์ หาก 1 เดือนแล้ว พัฒนาการหยุดอยู่กับที่หรือเปลี่ยนแปลงน้อย ควรปรึกษากุมารแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาการและพฤติกรรมต่อไป "
    ลูกไม่เป็นอะไร ทำไมต้องไปหาหมอพัฒนาการเด็ก!?

   มีการวิจัยสุ่มสำรวจพัฒนาการเด็กในประเทศไทยพบว่าเกือบ 30% ของเด็กไทยเด็กมีพัฒนาการช้าโดยที่ผู้ปกครองไม่ทราบ

   กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็ก 4 ช่วงอายุ คือ 9 เดือน 1 ขวบครึ่ง 2 ขวบครึ่ง และ4 ขวบครึ่ง เพื่อประโยชน์ในการตรวจ พบพัฒนาการช้าตั้งแต่เริ่มต้นซึ่งมีโอกาสแก้ไขให้กลับมาปกติได้ง่าย หรือหากเด็กมีพัฒนาการปกติก็จะได้รับคำแนะนำการเลี้ยงดูเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและป้องกันปัญหาพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละช่วงวัย ดังนั้นการตรวจคัดกรองพัฒนาการของเด็กจึงมีความสำคัญแม้ผู้ปกครองอาจมองว่าลูกน้อยยังไม่ผิดปกติ
 
   เสี่ยงแค่ไหนเมื่อลูกมีภาวะพฤติกรรมผิดปกติแล้วไม่พบแพทย์พัฒนาการเด็ก

   • การตรวจพบความผิดปกติและแก้ไขตั้งแต่ระยะเริ่มแรกสามารถกลับมามีพัฒนาการที่ปกติได้ หรือบางโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็ยังทำให้คุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติได้มากกว่ากรณีเกิดเป็นปัญหาเรื้อรัง หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นความบกพร่องอย่างถาวร เช่น กรณีเด็กที่หมกมุ่นอยู่กับหน้าจอนานเกือบทั้งวันเป็นเวลายาวนานมากกว่า 2 ปี อาจทำให้ไอคิวลดต่ำกว่า 10 จุดอย่างถาวร, การกระตุ้นพัฒนาการก่อนอายุ 3 ปี มีโอกาสแก้ไขให้กลับมาใกล้เคียงปกติมากกว่ากระตุ้นตอนอายุมากกว่า 3 ปี

   • นอกจากนี้ปัญหาพฤติกรรมอาจทำให้เด็กถูกคนรอบข้างปฏิบัติด้วยในเชิงลบ ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ และลดคุณค่าของตนเองหากไม่รีบแก้ไขอย่างทันท่วงทีจะส่งผลเสียระยะยาวในการใช้ชิวิตและการอยู่ร่วมในสังคม

   • การเติบโตของเด็กๆ ไม่เพียงแต่สุขภาพกายที่แข็งแรงสมบูรณ์เท่านั้นแต่การมีพัฒนาการ อารมณ์ และพฤติกรรมที่สมวัยก็สำคัญไม่น้อยด้วยโลกในยุคในปัจจุบันการหล่อหลอมเลี้ยงดูให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพต้องอาศัยความเข้าใจและรู้เท่าทัน การได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมจึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการเลี้ยงดูยุคปัจจุบัน

 

ขอขอบคุณข้อมูล

พญ.พนิดา รณไพรี
กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช