รู้ทัน...โรคลมชักในเด็ก ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)

รู้ทัน...โรคลมชักในเด็ก ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)

   "โรคลมชัก" เป็นหนึ่งในโรคทางระบบประสาทในเด็กที่พบบ่อย เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ทำให้เกิดอาการชัก เกร็ง กระตุกทั้งตัว สะดุ้ง เหม่อลอย เบลอ หรือถึงแม้ว่าจะไม่พบความผิดปกติทางกายภาพของสมองก็สามารถทำให้เกิดโรคลมชักได้ พ่อแม่ควรสังเกตุอาการและไม่ควรมองข้าม หากสงสัยว่าลูกน้อยเป็นโรคลมชัก ควรรีบพาเด็กเข้ารับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม เพื่อสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือ EEG เป็นการตรวจที่ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง มีประโยชน์ในเด็กที่สงสัยว่าเป็นโรคลมชัก ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักจริงหรือไม่ และช่วยแยกชนิดของโรคลมชัก ซึ่งมีผลต่อการเลือกยากันชักที่เหมาะสมกับโรคลมชักแต่ละประเภท การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองสามารถประเมินผลการรักษา ติดตามอาการ และช่วยวางแผนก่อนหยุดยากันชัก

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือ EEG (Electroencephalography) คือ การบันทึกสัญญาณไฟฟ้าจากจุดต่างๆ ของสมองผ่านออกมาทางหนังศีรษะเครื่องจะแปลคลื่นไฟฟ้าสมองออกมาในลักษณะคลื่นไฟฟ้าที่มีความถี่ต่างกันเป็นกราฟบนจอภาพ แปลผลโดยแพทย์ระบบประสาทวิทยาว่าผิดปกติหรือไม่และอยู่บริเวณใดของสมอง หากมีความผิดปกติก็สามารถตรวจได้ เช่น ภาวะชัก ภาวะสับสน การบันทึกคลื่นสมองนี้จะทำภายใต้ภาวะต่างๆ เช่น ขณะตื่น หลับ ระหว่างชัก ระหว่างกระตุ้นด้วยแสง

เมื่อไหร่จำเป็นต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง

ข้อบ่งชี้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง มีดังนี้

  • ช่วยวินิจฉัยเด็กที่เป็นโรคลมชัก ติดตามผลการรักษา และบอกชนิดของอาการชักได้ ช่วยแยกชนิดของโรคลมชักเพื่อช่วยในการเลือกยากันชักที่เหมาะสม และวางแผนหยุดยากันชักในเด็กที่เป็นโรคลมชัก
  • ช่วยวินิจฉัยแยกระหว่างโรคลมชักและอาการชักปลอม (Non – Epileptic Seizures) ซึ่งเด็กที่เป็นโรคลมชักจะพบคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติเสมอ แต่หากมีอาการอื่นที่ไม่ใช่อาการชักจะตรวจไม่พบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองแม้ว่าจะมีอาการชักทั้งตัว
  • ช่วยวินิฉัยโรคทางสมองและบอกตำแหน่งของพยาธิสภาพในสมอง เช่น เนื้องอกสมอง ฝีในสมอง โรคติดเชื้อของระบบประสาท ได้แก่ สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคหลอดเลือดสมองทั้งชนิดที่เกิดจากการขาดเลือดหรือเกิดจากหลอดเลือดแตก หากมีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้กับผิวสมองจะทำให้เกิดคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติได้
  • บอกระดับการตื่นของสมองในเด็กที่รู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีอาการซึมลง สับสน หรือหมดสติ และสงสัยว่ามีอาการชักที่ไม่มีการเกร็งกระตุก
  • ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าในขณะนอนหลับ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น โรคง่วงหลับ
 วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
แบ่งออกเป็นระยะต่างๆ ดังนี้
  • 1. การบันทึกการตรวจ ในระหว่างการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองขณะที่นอนนิ่งนั้น จะมีกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อประกอบการแปลคลื่นไฟฟ้าสมอง ได้แก่ การลืมตาและการหลับตา เจ้าหน้าที่จะบอกให้ลืมตาและหลับตาเป็นช่วงๆ ตลอดระยะเวลาการบันทึก
  • 2. การหายใจแรงลึก (Hyperventilation) ให้หายใจแรงลึกและรวดเร็วติดต่อกันเป็นเวลา 3 นาที การหายใจที่ถูกต้องจะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง ทำให้หลอดเลือดดำหดตัว เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง เกิดภาวะสมองขาดเลือดและขาดออกซิเจน หากสมองมีความผิดปกติคลื่นไฟฟ้าสมองจะผิดปกติด้วยหรืออาจเกิดอาการชักตามมาได้ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจช่วงหายใจแรงลึกทุกคน เพราะบางคนจะมีข้อห้ามหรือไม่จำเป็นต้องทำ เพราะอาการของโรคต่างๆ ที่เป็นอยู่อาจรุนแรงขึ้น หรือมีผลข้างเคียงรุนแรงขึ้น
  • 3. การกระตุ้นด้วยแสงไฟ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองจะมีการกระตุ้นด้วยแสงไฟที่เปิดและปิดเป็นจังหวะด้วยความถี่ที่แตกต่างกัน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของสมอง ช่วยในการวินิจฉัยโรคลมชักได้
การเตรียมตัวก่อนลูกน้อยตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
  • ควรให้เด็กรับประทานยากันชักตามปกติ ห้ามหยุดยากันชักก่อนตรวจ ยกเว้นเป็นการแนะนำจากแพทย์
  • ก่อนวันเข้ารับการตรวจ ควรสระผมด้วยแชมพูและล้างผมให้สะอาด หลีกเลี่ยงการใช้ครีมนวดผม ปล่อยผมให้แห้งก่อนตรวจ หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์หรือแต่งผมเจลแต่งผม 
  • ควรให้เด็กนอนดึกที่สุดก่อนวันมาตรวจ พยายายามให้นอนประมาณ 4 ชั่วโมง เนื่องจากต้องหลับระหว่างการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง และระหว่างเดินทางไม่ควรให้งีบหลับ ควรหลับเองโดยธรรมชาติ การให้ยานอนหลับจะใช้เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น
  • รับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหารก่อนตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง

ขอขอบคุณข้อมูล

นพ.อภิรักษ์ เมฆมังกรทอง
กุมารแพทย์ระบบประสาทวิทยา
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
15-01-2025