โรคมือเท้าปาก เกิดจากอะไร อาการ วิธีรักษาและป้องกัน

โรคมือเท้าปาก เกิดจากอะไร อาการ วิธีรักษาและป้องกัน

   โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเอนเทอไวรัส พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะวัยเด็กเล็ก ส่งผลให้มีอาการไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ติดต่อกันได้ง่ายผ่านการสัมผัสน้ำลายหรือสารคัดหลั่งจากตุ่มใสที่เกิดขึ้นบริเวณ มือ เท้า

และสามารถติดต่อกันได้จากการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ของเล่น หรือแก้วน้ำ โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มักมีการระบาดของโรคติดเชื้อ ซึ่งสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ผ่านการไอ จาม หรือสัมผัส โดยทารกและเด็กเล็กจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย และอาการมักรุนแรงกว่าเด็กโต

สาเหตุ โรคมือ เท้า ปาก

   โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อเอนเทอไวรัส ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็ก พบการระบาดบ่อยในโรงเรียนอนุบาลหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก แพร่เชื้อผ่านละอองฝอยและการสัมผัส มีระยะฟักตัว 3-6 วัน หลังได้รับเชื้อ จากนั้นจึงเริ่มมีอาการ โดยเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงคือ EV71

   โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้ง่ายมาก อัตราการติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งเกือบร้อยละ 100 โดยเฉพาะในเด็ก และช่วงเวลาที่มีการระบาดในเด็กจากการสัมผัสทางน้ำลาย ได้รับเชื้อจากแผลในปากหรือเชื้อเข้าทางปากจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสมือ เท้า ปาก โดยส่วนใหญ่จะมีการรับเชื้อเข้าทางปากโดยตรง ส่วนน้อยที่จะรับเชื้อทางการหายใจ แต่บางครั้งก็อาจติดมากับมือ ของเล่น การไอจามรดกัน รวมไปถึงการใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกัน

อาการของโรคมือ เท้า ปาก

  •  มีอาการไข้สูง 3-4 วัน
  •  มีอาการอาเจียนบ่อย มากกว่า 2-3 ครั้ง
  •  มีตุ่มน้ำใส ขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปาก ลิ้น เหงือก
  •  มีอาการหายใจเร็วมากหรือหายใจช้ามาก
  •  มีแผลในปาก
  •  มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย
  •  มีอาการซึม ปวดหัวมาก
  •  มีอาการแขนขาอ่อนแรง
 การรักษาโรคมือ เท้า ปาก

   ส่วนใหญ่เป็นรักษาตามอาการ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสจึงไม่มียารักษาโดยตรง ซึ่งมักมีปัญหาเจ็บคอ กินได้น้อย แนะนำให้กินอาหารที่มีอุณหภูมิเย็นๆ เพื่อให้กลืนง่าย เช่น น้ำเย็น น้ำแข็ง ไอศกรีม บางครั้งอาจมีการใช้ยาชาเฉพาะที่ ป้ายในปากแต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ใช้มากเกินไปและบ่อยเกินไปเพราะมีอันตรายจากผลข้างเคียงของยาชาได้ แต่ถ้าเจ็บมากพิจารณาให้ใช้ได้เป็นครั้งคราว

โปรแกรมวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงจากเชื้อไวรัส EV71

   วัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก EV71 ช่วยป้องกันเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ที่เป็นสาเหตุหลักของอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น มีอาการทางสมอง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและมีภาวะสมองอักเสบได้

  •  ป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงจากเชื้อไวรัส EV71
  •  เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี
  •  ควรได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างจากเข็มแรก 1 เดือน
 การวินิจฉัย โรคมือ เท้า ปาก

   โดยมากเป็นการวินิจฉัยจากการตรวจร่างกาย แต่ปัจจุบันมีการตรวจเพิ่มเติมโดยตรงเพื่อหาตัวชี้เฉพาะ (PCR) จากสารคัดหลั่งหรืออุจจาระซึ่งต้องใช้เวลา มักจะส่งตรวจในกรณีมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง หรือหัวใจ

การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก

   ปัจจุบันสามารถป้องกันการแพร่ระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนได้ ด้วยการกัดกรองผู้ป่วยและรักษาความสะอาดโดยเฉพาะอุปกรณ์ของเล่นเด็ก หลีกเลี่ยงสัมผัสผู้ป่วยโรคโดยตรงและแยกผู้ป่วยจากผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กเล็กในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็กเป็นเวลา 4-7 วัน

   สร้างสุขนิสัยที่ดี เช่น หมั่นล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหารและการใช้ห้องน้ำ รับประทานอาหารที่สะอาด สดใหม่ และใช้ช้อนกลางตักเสมอ ทำความสะอาดของเล่น สิ่งของเครื่องใช้ภาชนะ รวมทั้งการกำจัด ผ้า หรือกระดาษสำหรับทำความสะอาดสิ่งคัดหลั่งไม่ให้ปนเปื้อนสู่คนอื่น

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคมือ เท้า ปาก
  •  หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น
  •  รักษาความสะอาดของมือและสิ่งของที่สัมผัสบ่อย
  •  รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและให้พลังงานสูงเพื่อฟื้นฟูร่างกาย
  •  พักผ่อนอย่างเพียงพอและดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน
การดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก 
  •  ให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอและไม่ควรให้ไปโรงเรียนจนกว่าจะหาย
  •  ดูแลให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
  •  ให้เด็กกินอาหารที่ย่อยง่ายและนุ่ม
  •  ให้ใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเพื่อลดอาการเจ็บปวดและไข้
สรุป

   หากพบว่ามีผู้ป่วยให้รีบแยกออกและเข้ารับการรักษา โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังและให้ความสำคัญอย่างมาก อาจมีความเสี่ยงที่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ เพราะร่างกายของเด็กนั้นบอบบาง ภูมิคุ้มกันก็ยังต่ำ ทำให้เมื่อมีการสัมผัสกับเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงเชื้อไวรัสก็จะป่วยหรือมีอาการค่อนข้างมาก

อ้างอิง :
บทความ เรื่อง โรคมือ เท้า ปาก
https://www.nonthavej.co.th/hand-foot-mouth.php

นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล
กุมารแพทย์สาขากุมารเวชศาสตร์
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น