หาก “การนอนหลับ” ของคุณเป็นการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ การดำเนินชีวิต และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เพราะ “การนอนหลับ” เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดที่จะทำให้ร่างกายได้พัก ส่งผลให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย จิตใจ เป็นไปอย่างปกติ และมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนมีหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหานอนไม่หลับปัญหา การนอนหลับไม่มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะง่วงนอนกลางวัน
ภาวะนอนกรนหยุดหายใจ เป็นปัญหาหนึ่งซึ่งพบได้บ่อยปัญหาดังกล่าว นอกจากทำให้รบกวนการนอนหลับของเพื่อนร่วมห้องแล้วยังทำให้ผู้ป่วยมีภาวะหายใจแผ่ว หยุดหายใจ ทำให้สะดุ้งตื่นบ่อย และสมองขาดออกซิเจน ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน อัมพาต ขาดสมาธิ ความจำสั้น ง่วงนอนกลางวัน หรือหลับใน อาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุขณะขับรถ และเสียชีวิตได้
ภาวะนอนกรนที่เกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น(Obstructive Sleep Apnea) เป็นภาวะที่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้นมีการตีบแคบลงซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากกายวิภาคของกล้ามเนื้อในช่องคอ, ลิ้นมีการหย่อนไปปิดทางเดินหายใจส่วนต้นโดยเฉพาะขณะหลับ หรือการที่ช่องคอที่ลักษณะแคบผลทำให้อากาศและออกซิเจนไม่สามารถเข้าสู่ปอดไปเลี้ยงร่างกายและสมองได้ คนไข้จะมีภาวะตื่นบ่อย(Arousals) ออกซิเจนต่ำในร่างกาย, มีการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อุบัติการณ์ในการเกิดโรคในประเทศไทยพบความชุกสูงถึงร้อยละ 15.4 ในผู้ชายและร้อยละ 6.3 ในผู้หญิง
ปัจจัยเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น(Obstructive Sleep Apnea)
เพศชาย, อายุ, ภาวะอ้วน, รอบคอที่กว้าง, ความดันโลหิตสูง และลักษณะโครงสร้างของใบหน้าที่ผิดปกติ สำหรับปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ , การทานยานอนหลับ และภาวะภูมิแพ้หรือความผิดปกติในช่องจมูก เป็นต้น
อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น(Obstructive Sleep Apnea)
- • กรน
- • หยุดหายใจขณะหลับ
- • หายใจเฮือก
- • หลับไม่สนิท
- • ปัสสาวะบ่อยกลางคืน
- • ปวดศีรษะตอนเช้า
- • ง่วงนอนกลางวัน เป็นต้น
นอกจากนี้มีข้อมูลว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น(Obstructive Sleep Apnea) อาจส่งผลต่อภาวะความผิดปกติของหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, หลอดเลือดสมองตีบ, เบาหวาน, กรดไหลย้อน, ความจำลดลง หรือแม้แต่ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA)
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการนอนกรน สะดุ้งตื่น หลับๆ ตื่น ๆ ส่งผลให้การนอนหลับไม่มีคุณภาพ ตลอดจนความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การวินิจฉัยซึ่งถือว่าเป็นมาตราฐานคือการ ตรวจการนอนหลับ Polysomnography หรือ Sleep Test เพื่อการวินิจฉัยและประเมินถึงความรุนแรง โดยการตรวจภายในโรงพยาบาลอาศัยเครื่องมือทางการแพทย์ที่เหมาะสมร่วมกับเจ้าหน้าตรวจการนอนหลับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้สังเกตการณ์ (level I) เป็นการตรวจแบบละเอียดเพื่อให้ข้อมูลที่เหมาะสม อันได้แก่
- 1.การตรวจวัดคลื่นสมอง และการกรอกตา เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ
- 2.ตรวจวัดความตึงตัวของกล้ามเนื้อขณะหลับ
- 3.ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- 4.ตรวจวัดคุณภาพลมหายใจที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก
- 5.ตรวจวัดการเคลื่อนใหวของทรวงอกและท้องขณะหายใจ
- 6.ตรวจวัดระดับความเข้มข้นของออกซิเจนขณะนอนหลับ
- 7.ตรวจวัดระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขณะนอนหลับ
- 8.ตรวจวัดระดับของการกรน
- 9.ตรวจลักษณะท่านอนขณะหลับ
- 10.ตรวจบันทึกความผิดปกติของการเคลื่นไหวระหว่างนอนหลับ
การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) ประกอบไปด้วย
- • การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการรักษากลุ่มภาวะโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
- • การรักษาด้วยทันตอุปกรณ์ (Oral Appliance) ช่วยในเรื่องของภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยได้
- • การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดทางเดินหายใจ
- • การรักษาอื่นๆ เช่นหลีกเลียงการนอนหงาย, การลดน้ำหนัก หรือการฝึกกล้ามเนื้อคอหอยเพื่อเพิ่มแรงคงตัว เป็นต้น
อ้างอิง
บทความ เรื่อง โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA)
https://www.nonthavej.co.th/Obstructive-Sleep-Apnea.php
นพ. สิริชัย กิตติชาญธีระ
อายุรแพทย์ระบบประสาท และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการหลับ
ศูนย์ตรวจการนอนหลับ
ศูนย์สมองและระบบประสาท