เช็ก!สัญญาณเตือน มะเร็ง ที่พบบ่อยในผู้หญิง

เช็ก!สัญญาณเตือน มะเร็ง ที่พบบ่อยในผู้หญิง

สุขภาพของผู้หญิง จำเป็นต้องดูแลเอาใส่ใจเป็นพิเศษในทุกช่วงวัย เพราะร่างกายของผู้หญิงมีลักษณะเฉพาะและมักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การรู้ทันโรคร้ายจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ได้

   โดยเฉพาะ“มะเร็ง” กลุ่มโรคที่เกิดจากเซลล์ของร่างกายแบ่งตัวมากผิดปกติ และจำนวนผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากรายงานสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่า 5 อันดับแรกของมะเร็งที่ตรวจพบมากที่สุดในเพศหญิง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งปอด และมะเร็งมดลูก

สัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง

ในระยะแรกที่เซลล์มะเร็งมีจำนวนน้อย ร่างกายจะไม่แสดงอาการ แต่ถ้าหากมีสัญญาณเตือนดังต่อไปนี้ ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งหรือหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องก่อนเซลล์มะเร็งจะลุกลาม

  • 1. ระบบขับถ่ายผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ปัสสาวะเป็นเลือด
  • 2. กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด จุกเสียด แน่นท้องเป็นเวลานาน
  • 3. ไอเรื้อรัง หรือเสียงแหบ
  • 4. มีเลือดหรือสิ่งผิดปกติออกจากช่องคลอด เช่น มีตกขาวมากเกินไป
  • 5. แผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย
  • 6. มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติของหูด ไฝ ปาน 
  • 7. มีก้อนหรือตุ่มเกิดขึ้นตามร่างกาย (โตเร็วผิดปกติ

 มะเร็งเต้านม

   เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงทั่วโลก การตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ยังไม่แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง และทเข้ารับการรักษา ทำให้มีโอกาสรอดชีวิตและหายขาดมากขึ้น ดังนั้น การหมั่นสังเกตตัวเองรวมถึงดูแลร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย หากพบความผิดปกติหรือมีอาการน่าสงสัย ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด

อาการของมะเร็งเต้านม
เจ็บบริเวณเต้านมแม้ไม่ใช่ช่วงที่มีประจำเดือน
คลำพบก้อนที่เต้านมหรือใต้รักแร้
ขนาดเต้านมและรูปทรงของเต้านมข้างใดข้างหนึ่งเปลี่ยนไป
ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม
ผิวบริเวณหัวนมหรือเต้านมมีสีแดงเป็นสะเก็ดหรือหนาขึ้น
ระคายเคืองผิวบริเวณหน้าอก มีผื่นคันบริเวณเต้านม
หัวนมบุ๋ม หัวนมผิดตำแหน่ง เช่น ยุบลงไปหรือถูกดึงรั้งไปทางอื่น
มีแผลบริเวณหัวนมแล้วรักษาไม่หาย
มีน้ำหรือของเหลวที่ไม่ใช่นมไหลออกจากหัวนม หรืออาจเป็นเลือด

 

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม
เริ่มมีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี
ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
มีบุตรหลังอายุ 30 ปี หรือไม่เคยมีบุตร
มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม
รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสเตอโรนติดต่อกันมากกว่า 5 ปี
มีการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
ภาวะอ้วน โดยเฉพาะหลังวัยหมดประจำเดือน

    ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง การตรวจเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) และการตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านม (Breast Ultrasound) ร่วมกัน เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เนื่องจากคุณภาพสูง มีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่า โดยสามารถแยกก้อนเนื้องอกธรรมดาและก้อนเนื้อมะเร็งขนาดเล็กได้อย่างชัดเจน ภาพมีความคมชัดไม่ต้องตรวจซ้ำ นอกจากนี้ยังใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไปอีกด้วย

มะเร็งปากมดลูก

   มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตหญิงไทย สาเหตุสำคัญเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) สายพันธุ์เสี่ยงสูง ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่ โดยเชื้อไวรัสจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อหรือเซลล์จากปากมดลูกปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง เเละอาจลุกลามไปบริเวณรอบข้าง เช่น ผนังช่องคลอด เนื้อเยื่อข้างมดลูก ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น

อาการมะเร็งปากมดลูก
ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการผิดปกติหรือมีสัญญาณเตือนใดๆ แต่หากมะเร็งเริ่มลุกลามมากขึ้นจะพบความผิดปกติ ดังนี้
มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างมีประจำเดือน
มีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
เลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน
ประจำเดือนมาผิดปกติ มานานหรือมามากขึ้น
ปวดหน่วงท้องน้อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
ตกขาวมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นหรือมีเลือดปน
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก
มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
มีคู่นอนหลายคน
เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
มีบุตรหลายคนหรือมากกว่า 3 คนขึ้นไป
สูบบุหรี่หรือคนรอบข้างสูบบุหรี่
รับประทานยาคุมกำเนิดนานกว่า 5 ปีขึ้นไป

    นอกจากการลดปัจจัยเสี่ยงข้างต้นแล้ว ยังสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ โดยการตรวจภายใน, PAP smear หรือ HPV Test เพื่อหาความผิดปกติ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 21 ปี ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
รวมถึงการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ชนิดที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้หญิงอายุ 9-26 ปี และจะได้ประโยชน์มากที่สุดถ้าฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ส่วนผู้ชายแนะนำให้ฉีดตั้งแต่อายุ 11-15 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV ไม่ให้เป็นพาหะนำเชื้อไปสู่คู่นอน ป้องกันการติดเชื้อ HPV และลดโอกาสการเกิดโรคหูดหงอนไก่ด้วย