อาการกรดไหลย้อน เป็นอย่างไร และรักษาอย่างไร ?
คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่ากลุ่มอาการของออฟฟิศซินโดรมมักจะมีเรื่องของอาการปวดเมื่อยตามตัว การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดตามข้อ นิ้วล็อค นิ้วชา แต่จริงๆ แล้วโรคนี้เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งยวดเกี่ยวกับเรื่องของออฟฟิศซินโดรม เรียกว่า “โรคกรดไหลย้อน” นั่นเอง
โรคกรดไหลย้อน คืออะไร ?
โรคกรดไหลย้อน (Gastro-Esophageal Reflux Disease : GERD) คือ โรคที่มีอาการเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลากลางวันหรือกลางคืน หรือแม้แต่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม ทำให้เกิดอาการระคายเคืองจากกรด เช่น อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบและมีแผล หรือถ้ากรดไหลย้อนขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อ หูรูดของหลอดอาหารส่วนบน อาจทำให้เกิดอาการนอกหลอดอาหาร เช่น อาการทาง ปอด หรืออาการทางคอและกล่องเสียง
อาการกรดไหลย้อน
อาการของโรคกรดไหลย้อน แบ่งได้หลากหลายมากโดยคนไข้มักจะมาได้หลากหลายอาการ แต่เราสามารถแบ่งเป็นอาการหลักๆ ได้ 2 รูปแบบ คือ อาการที่เกิดขึ้นกับหลอดอาหาร กับอาการที่เกิดขึ้นนอกหลอดอาหาร ได้แก่ กล่องเสียง หลอดลม และทางปอด
1.อาการทางหลอดอาหารจะเป็นอาการที่ค่อนข้างจะจำเพาะต่อโรคกรดไหลย้อนที่เราเจอได้ทุกวัน และเจอได้ค่อนข้างบ่อยในคนไข้ที่เข้ามาพบแพทย์ คือ
- มีอาการเจ็บ แสบร้อน บริเวณกลางหน้าอก หรือบริเวณใต้ลิ้นปี่
- เรอแล้วมีน้ำเปรี้ยวๆ ไหลขึ้นมากลางหน้าอก
- แสบคอ
- จุกหรือเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ กลืนลำบาก กลืนติดๆ ขัดๆ หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในลำคอ
- กลืนแล้วเจ็บ หรือมีอาการเจ็บคอ แสบปาก แสบคอ แสบลิ้น โดยเฉพาะตื่นนอนตอนเช้า
- มีรสขมของน้ำดี รสเปรี้ยวของกรดขึ้นมาในคอ ในปาก ในช่วงเช้า
- มีเสมหะคาอยู่ในคอตลอดเวลา หรือต้องกระแอม รู้สึกระคายคอตลอดเวลา ต้องกระแอมไอบ่อยๆ ในช่วงเช้าหรือตื่นนอนตอนเช้า
- เรอบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกเหมือนมีน้ำย่อยไหลขึ้นมา รู้สึกจุกแน่นในลำคอ จุกแน่นหน้าอก
2.อาการที่เกิดขึ้นนอกหลอดอาหาร
- เสมหะเรื้อรัง หรือตื่นมาตอนเช้ามีเสียงแหบๆ หรือเสียงพูดผิดปกติไปจากเดิม
- ไอเรื้อรัง ไอ หรือสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ค่อยออกในเวลากลางคืน หายใจไม่อิ่ม
- ผู้ป่วยที่มีโรคหอบหืดอยู่แล้วอาจจะมีความรู้สึกว่าอาการแย่ลงหลังจากที่ได้รับการรักษาไปแล้ว
- ผู้ป่วยที่มีโรคปอดอักเสบเป็นๆ หายๆ บ่อยๆ
สาเหตุของ โรคกรดไหลย้อน
สาเหตุของกรดไหลย้อน มีกลไกการเกิดที่ค่อนข้างไม่ซับซ้อน ปกติแล้วระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารจะมีหูรูดคอยทำหน้าที่เปิด-ปิด เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารหรือน้ำย่อยไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหารหลังจากที่เรารับประทานอาหารเข้าไป
ในคนไข้ที่มีปัญหาภาวะกรดไหลย้อนเกิดขึ้นก็จะมีปัญหาเรื่องหูรูดที่มีการทำงาน หรือมีการปิดที่ไม่สนิท หรือมีการเคลื่อนตัวของหูรูดไหลขึ้นไปข้างบน มีการเคลื่อนตัวของหูรูดที่เป็นชั้นกล้ามเนื้อไหลย้อนขึ้นไปข้างบน ก็จะทำให้อาหารหรือน้ำย่อยที่คนไข้รับประทานเข้าไป มีการไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหารได้ โดยเฉพาะในท่าทางหรือตำแหน่ง (Position) ที่มีการเอนตัวหรือล้มตัวลงนอน
การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน
- จากการซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยแพทย์
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น เพื่อดูหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เป็นการตรวจวินิจฉัยในกรณีรักษาด้วยการให้ยาและปรับพฤติกรรมแล้วคนไข้อาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเตือนบางอย่างที่จำเป็นจะต้องไปสืบค้นเพิ่มเติม
- การตรวจติดตามปริมาณกรดในหลอดอาหาร 24 ชั่วโมง
ภาวะแทรกซ้อน “โรคกรดไหลย้อน”
ภาวะแทรกซ้อนที่มักจะเกิดขึ้นและพบเจอได้ในคนไข้ที่มีภาวะกรดไหลย้อนเรื้อรังหรือเป็นมาในระยะเวลานานๆ เวลาที่น้ำกรดไหลขึ้นมาก็จะทำให้เกิดภาวะอักเสบเกิดขึ้น พออักเสบต่อเนื่องไปนานๆ ร่างกายจะมีการสร้างสิ่งที่คล้ายๆ กับพังผืดเกิดขึ้น พังผืดที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เกิดหลอดอาหารมีการตีบแคบลงได้ จากการส่องกล้องจะเห็นได้ว่าเป็นรอยตีบ มีรอยอักเสบเกิดขึ้นในหลอดอาหาร ทำให้อาการอาจจะแย่ลง หรือกลืนอาหารแล้วมีภาวะที่กลืนติดได้
ภาวะแทรกซ้อนที่กังวลและกลัวมากที่สุด คือ “มะเร็งหลอดอาหาร” เกิดจากภาวะกรดไหลย้อนที่รุนแรงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยที่คนไข้ไม่ได้รับการวินิจฉัย และไม่ได้เข้ารับการรักษา ก็จะทำให้คนไข้เกิดภาวะเนื้อเยื่อที่เกิดการอักเสบของหลอดอาหารมีการกลายตัวของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหาร เกิดเป็นเซลล์เนื้อร้ายและเกิดเป็นเนื้องอกเกิดขึ้น คนไข้จะมาด้วยอาการมะเร็งทางเดินอาหารชัดเจน เช่น มีน้ำหนักลด เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรง อาเจียนบ่อยๆ
“โรคกรดไหลย้อน” มีวิธีการรักษาอย่างไร ?
1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- พฤติกรรมในการรับประทานอาหาร
- - ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารอาหารบางอย่างที่มีความสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนมากขึ้น เพราะอาหารกลุ่มนี้มักจะเป็นอาหารที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายมีการผ่อนคลายตัวและไม่กระชับ เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารจำพวกช็อกโกแลต โกโก้ นม หรือการดื่ม ชา กาแฟ เป็นประจำ หรือการดื่มเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีคาเฟอีนเป็นหลัก เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง อาหารมัน อาหารทอด อาหาร Junk Food
- - หลีกเลี่ยงอาหารที่ไปเพิ่มการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและหลอดอาหารได้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มอาหารรสจัด เช่น กระเทียม อาหารรสจัด (เปรี้ยว เผ็ด หวาน เค็ม) เครื่องดื่มที่มีแก๊ส เช่น น้ำอัดลม หรือมีวิตามิน
- พฤติกรรมส่วนตัว
- - ลดน้ำหนัก เพราะการที่เรามีน้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือดูจากดัชนีมวลกายเป็นหลัก เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนเป็นมากขึ้นหรือรุนแรงมากขึ้นได้
- - หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- - หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่คับหรืออึดอัดรัดแน่นเกินไปบริเวณที่เอว
- - ถ้ามีอาการท้องผูกบ่อยๆ ควรได้รับการรักษาเพื่อหลีกเลี่ยงการเบ่งถ่าย
- พฤติกรรมการนอน
- - การปรับพฤติกรรมการนอน เพราะการเกิดภาวะกรดไหลย้อนจะสัมพันธ์กับ Position หรือท่าทาง เพราะว่าเกิดจากน้ำกรดที่มีการไหล่ท้นกลับขึ้นมาในหลอดอาหารทำให้เกิดการระคายเคือง ร่วมกับหูรูดที่มีการหย่อนคลายผิดปกติ คำแนะนำที่สำคัญที่สุด คือ เราไม่ควรที่จะนอน หรือปรับพฤติกรรมการเอนตัวลงไปในท่านอนทันทีหลังจากรับประทานอาหาร ควรเว้นห่างอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
- - ควรหนุนหัวเตียงให้สูงลาดขึ้น ประมาณ 6-8 นิ้ว จากพื้นราบ โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐ หรือปรับหัวเตียงให้สูงขึ้น ไม่ควรยกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการใช้หมอนรองศีรษะเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น มีผลทำให้กรดไหลย้อนมากขึ้นได้
2.การรับประทานยา
- การรักษาโรคกรดไหลย้อนด้วยการรับประทานยา ยาที่เป็นยาสำคัญหรือยาหลักที่ใช้ในการรักษา คือ ยากลุ่มยับยั้งการหลั่งกรด หรือภาษาทางการแพทย์เรียกว่า Proton Pump Inhibitors นอกจากนี้ยังสามารถใช้ร่วมกับยาที่จะใช้ในการปรับเพิ่มการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เพื่อให้อาหารสามารถเคลื่อนตัวผ่านหลอดอาหารไปยังกระเพาะอาหารได้ดียิ่งขึ้น
- และที่สำคัญคือควรที่จะพยายามรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรไปลดยาเองหรือหยุดยาเอง เพราะปัญหาสำคัญ คือ คนไข้รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ บางคนได้รับยาไปรับประทานที่บ้านแล้ว พอ 1สัปดาห์ผ่านไป หรือผ่านไป 2-3 วัน อาการดีขึ้น แล้วก็หยุดยาไปเลย พอหยุดยาไป อาการที่ถูกควบคุมโดยยาอาจจะกลับมากำเริบได้
- ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาต่อเนื่อง 2-4 สัปดาห์เป็นต้นไป โดยรับประทานต่อเนื่องกันทุกวัน และควรมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากว่าทุกครั้งที่คนไข้มานัดติดตามอาการก็จะมีการปรับวิธีการรับประทานยา อาจจะมีปรับลด-เพิ่มยาบางตัว ถ้าอาการดีขึ้นหรือแย่ขึ้นก็ตาม
- ส่วนใหญ่โรคกรดไหลย้อนใช้เวลารักษายาวนานประมาณ 1-2 เดือน โดยเฉลี่ย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษาในคนไข้แต่ละราย รวมถึงการปรับพฤติกรรมว่าสามารถตอบสนองต่อการรักษาได้เร็วมากน้อยแค่ไหน บางท่านตอบสนองได้เร็วก็สามารถจะหยุดยาได้เร็ว บางท่านอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนหรือมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องที่อาจจะต้องมีการปรับยานานขึ้น บางคนอาจจะต้องมีการรักษาประมาณ 2-3 เดือน
- ถ้าอาการต่างๆ ดีขึ้นแล้ว แพทย์จะค่อยๆ ปรับลดยาลงเรื่อยๆ ทีละน้อย จนสามารถหยุดยาได้
- คนไข้ที่รับประทานยาแบบนี้อยู่แล้วไม่ควรที่จะไปซื้อยามารับประทานเอง เพราะหากมีการเจ็บป่วยด้วยอาการอะไรก็ตามแม้แต่เรื่องโรคกรดไหลย้อนก็ตาม โรคอื่นๆ ที่เรามีอยู่ ยาบางชนิดอาจมีผลทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร อาจจะทำให้เกิดการหลั่งกรดมากขึ้น ระคายเคืองหลอดอาหารได้ ที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือเรียกว่า ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) หรือยากลุ่มที่จะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างมีการคลายตัวมากขึ้นควรพยายามหลีกเลี่ยง
3.การตรวจส่องกล้องหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร
การตรวจส่องกล้องหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เป็นการตรวจวินิจฉัยที่กรณีรักษาด้วยการให้ยาและปรับพฤติกรรมแล้วคนไข้อาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเตือนบางอย่างที่จำเป็นจะต้องไปสืบค้นเพิ่มเติม
คนไข้ควรจะได้รับการตรวจด้วยกการส่องกล้องดูหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเพิ่มเติม ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำว่าคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาร่วมกับการปรับฤติกรรมแล้วนานประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่อาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเตือนบางอย่าง ควรเข้ามาตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้อง เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนมากขึ้น
- อาการเตือน (Alarm features) ที่ไม่ควรมองข้าม
- กลืนลำบาก กลืนติดเป็นมากขึ้น เป็นตลอดเวลาหรือกลืนแล้วเจ็บ
- คลื่นไส้ อาเจียนถี่ขึ้น นานมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น
- อาเจียนเป็นเลือดสด สีดำเหมือนกาแฟ หรือถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือสีดำ
- ปวดท้องรุนแรง
- น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุ
- โลหิตจางไม่ทราบสาเหตุ
ข้อควรปฏิบัติถ้ามีอาการกรดไหลย้อน
การหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ สามารถลด ความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่สามารถรักษาให้ผู้ป่วยหายขาด จากโรคได้ แต่ข้อแนะนำนี้จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ อาหารรสเผ็ด อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารทอด
- ไม่ดื่ม เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์
- เลิกสูบบุหรี่
- ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดบริเวณหน้าท้องและ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากควรลดน้ำหนัก
- ไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อมากเกินไป
- ไม่ควรรับประทานอาหารก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง
อ้างอิง
บทความ เรื่อง เช็ค 5 สัญญาณอันตราย “ โรคกรดไหลย้อน ”
https://www.nonthavej.co.th/Gastroesophageal-Reflux-Disease.php
VDO เรื่อง “กรดไหลย้อน” โรคยอดฮิตวัยทำงาน ตอนที่ 1
https://youtu.be/XVwrvMlS_tM?si=awFQRPINbTZhiKYy
VDO เรื่อง “กรดไหลย้อน” โรคยอดฮิตวัยทำงาน ตอนที่ 2
https://youtu.be/ElHPa_K2390?si=Q-bsMongVfMQU7s-
นพ. อานนท์ พีระกูล
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ