นิ่วระบบทางเดินปัสสาวะ อาการ เป็นอย่างไร สาเหตุ วิธีรักษา ?
ตำแหน่งที่เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเริ่มต้นที่ไต นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการตกตะกอนของสารที่อยู่ในปัสสาวะจนเกิดเป็นก้อนหินเล็กๆ และค่อยๆ พอกตัวใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นนิ่วที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
นิ่วในไต สาเหตุเกิดจากอะไร ?
1.การตกตะกอนเนื่องจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ ปัสสาวะจึงเข้มข้น
2.การรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น อาหารที่มีรสเค็มจัด เนื้อสัตว์โปรตีนสูง ยอดผักรสชาดเฝื่อนๆ ที่มีแคลเซียม ฟอสเฟต ออกซาเลตสูง และอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น ถั่ว เครื่องใน ผักบางชนิด เช่น กระถิน ชะอม สะเดา หากรับประทานบ่อยๆ กรดยูริกจะถูกขับออกมาทางไต และกลายเป็นนิ่วได้
นิ่วในไตอาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร ?
นิ่วในไต เริ่มแรกไม่มีอาการเพราะไม่มีการอุดตันทางเดินปัสสาวะ ส่วนใหญ่ที่เจอในคนไข้จะมี 2 กรณี ที่มีอาการนำมาคือ
- 1.นิ่วตกมาที่ท่อไตและอุดตัน คนไข้จะมีอาการปวดมาก ส่วนใหญ่คนไข้มักมาจะพบแพทย์ฉุกเฉินในเวลากลางคืนเนื่องจากมีอาการอุดตันเฉียบพลันเวลาที่นิ่วตกลงมาที่ท่อไต โดยคนไข้จะมีอาการปวดบั้นเอวด้านซ้ายหรือขวา หรืออาจมีไข้ร่วมเนื่องจากมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย
- 2.อีกส่วนที่พบได้ คือ คนไข้ไม่มีอาการ มาตรวจสุขภาพประจำปีและทำอัลตร้าซาวด์จึงเจอนิ่วที่ไตแต่ยังไม่มีอาการซึ่งถือว่าโชคดีแต่ต้องรีบรักษาเลย
เช็คสัญญาณเสี่ยงนิ่วระบบทางเดินปัสสาวะ หากคุณมีอาการ 1-2 คุณมีโอกาสเสี่ยงโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
- อาการปวดบริเวณบั้นเอว ด้านซ้ายหรือขวา ร้าวไปท้องน้อย
- มีอาการปวดบีบเป็นระยะ และปวดรุนแรงเป็นช่วงๆ ร่วมกับอาการต่อไปนี้ข้อใดข้อหนึ่ง
- ปัสสาวะมีเลือดปน
- ปัสสาวะแล้วเจ็บ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อาเจียน
- หนาวสั่น เป็นไข้
แนวทางการรักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
นิ่วทีไต บางรายไม่มีอาการ รักษาด้วยการทานยาละลายนิ่ว และติดตามการรักษาด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์ กรณีนิ่วไม่ละลายอาจต้องใช้วิธีการสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียง
นิ่วที่ไต บางรายที่นิ่วมีขนาดใหญ่มากๆ จะใช้วิธีการเจาะเข้าไปแทนการการผ่าตัดแบบเปิดแผลขนาด 15 เซนติเมตร ที่เอว โดยรูที่เจาะมีขนาด 1 เซนติเมตร จำนวน 1-2 รู แล้วสอดกล้องเข้าไปเพื่อเลเซอร์หรือกรอนิ่ว ข้อดีคือแผลเล็ก ฟื้นตัวไว ไตไม่เสื่อมเพราะการผ่าตัดนิ่วที่ไตแบบแผลเปิด ไตจะทำงานลดลง แล้วเสียไปในที่สุด
นิ่วที่ท่อไต หากเป็นนิ่วที่ไม่ใหญ่มากแนะนำวิธีการทานยาเพื่อขับนิ่วออกมา แต่มีเงื่อนไขคือต้องไม่มีอาการปวด ส่วนใหญ่หากนิ่วมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 4 มิลลิเมตร ผลการรักษาจะค่อนข้างดี นิ่วสามารถหลุดไปได้เอง
ถ้าหากนิ่วมีขนาดใหญ่มากขึ้น มีขนาดเกินกว่า 4 มิลลิเมตร โอกาสหลุดก็จะลดลง ก็จะใช้วิธีการสลายนิ่วหรือวิธีการส่องกล้องเข้าไปในท่อไตเพื่อคล้องนิ่วออกมา วิธีการนี้จะไม่มีแผลผ่าตัด วิธีการคือส่องกล้องเข้าไปทางท่อปัสสาวะโดยตัวกล้องสามารถย้อนไปในท่อไตได้เลย สามารถคล้องนิ่วหรือใช้เลเซอร์ไปยิงที่ตัวนิ่วได้เลย
ศูนย์โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบลนนทเวช ให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษานิ่วทางเดินปัสสาวะ และให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มีอาการของโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะ พร้อมด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์การตรวจวินิจฉัย ซึ่งพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ ดังนี้
การซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ(Physical Examination by Urologist)
- 1.การตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีเลือด หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urine Analysis)
- 2.การตรวจอัลตราซาวด์ระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อดูความผิดปกติ (Ultrasound KUB System)
- 3.การตรวจโดยการถ่ายภาพรังสีธรรมดาเพื่อดูรูปร่าง ลักษณะ ตำแหน่งของผลึกหรือก้อนนิ่ว ซึ่งอยู่บริเวณไต ท่อไต หรือกระเพาะปัสสาวะ (Plani KUB System)
- 4.การตรวจ X-ray ฉีดสารเข้าหลอดเลือดดำและเมื่อสีขับเข้ากระเพาะปัสสาวะแพทย์จะสามารถเห็นตำแหน่งและความรุนแรงของการอุดกลั้นปัสสาวะ (Intravenous Pyelography - IVP)
- 5.การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูอวัยวะและความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ (CT KUB System)
- 6.การรักษาโดยการรับประทานยาละลายนิ่ว
- 7.การส่องกล้องผ่านท่อไต (Ureteroscopy with Stone Removal) วิธีนี้ไม่มีรอยแผล เนื่องจากเป็นการส่องกล้องเข้าทางรูท่อปัสสาวะ หรือท่อไตที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
- 8.การสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียงความถีสูง (ESWL) ทำให้เม็ดนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร แตกเป็นเศษเล็กๆ ไหลหลุดออกมาเอง โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
- 9.การเจาะผ่านผิวหนังส่องกล้องกรอนิ่วในไต (PCNL) เป็นวิธีการรักษานิ่วในไต ที่พัฒนามาเพื่อเลี่ยงการผ่าตัดโดยใช้วิธีเจาะรูเล็กๆ ขนาดนิ้วชี้ทะลุจากผิวหนังเข้าไปในกรวยไต และใช้กล้องส่องตามเข้าไป จนพบก้อนนิ่ว จากนั้นจะใช้เครื่องมือเข้าไปกรอนิ่ว ให้แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ และดูดหรือคีบนิ่วออกมา
- 10.การขบนิ่ว (Cystolithotripsy) เป็นการใช้เครื่องมือเข้าไปทางท่อปัสสาวะ ขบนิ่วให้แตกแล้วล้างออกโดยไม่มีแผล กรณีเป็นนิ่วที่กระเพาะปัสสาวะ
วิธีดูแลตัวเอง ให้ห่างไกลจากโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
- 1.พยายามอย่ากลั้นปัสสาวะ
- 2.ดื่มน้ำวันละ 1.5-2 ลิตร เพื่อให้ลดความอิ่มตัวของสารก่อนิ่วที่จะก่อผลึกเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
- 3.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนและสัดส่วนเหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้
- 4.ลดอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารรสจัด เค็มมาก
- 5.หลีกเลี่ยงการรับประทานหนังสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์
- 6.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีออกซาเลตสูง ได้แก่ ผักโขม หน่อไม้ ถั่วชนิดต่างๆ ของหวาน ช็อกโกแลต โกโก้ ไอศกรีม
- 7.ออกกำลังกายเป็นประจำ ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อย 1 ปีครั้ง
Health Tips
ระบบทางเดินปัสสาวะเริ่มต้นจากไตซ้าย-ขวา ถ้าอยากให้ระบบทางเดินปัสสาวะทำงานได้ดี การดื่มน้ำสำคัญมาก “น้ำ” สำคัญกว่า “ยา” ควรดื่มน้ำวันละ 1.5 – 2 ลิตร หากปัสสาวะมีสีเข้มบ่งบอกว่าร่างกายกำลังขาดน้ำ มีโอกาสเป็นนิ่วได้ง่ายเพราะปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง
อ้างอิง
1.เสวนา เรื่อง รู้ทันปัญหา...โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
https://www.youtube.com/watch?v=0z1XeWQR7Uk
2.เช็คอาการส่อเค้า.. โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
https://www.nonthavej.co.th/urology.php
3.ล้วงลึก..แต่ไม่ลับ กับปัญหาสุขภาพชาย
https://www.nonthavej.co.th/Urinary-system-disease.php
นพ.ทวีพงษ์ เหลืองอ่อน
ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
ศูนย์โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
โรงพยาบาลนนทเวช