การนอนกรนเกิดจากอะไร ?
นอนกรน เกิดจากขณะที่เรานอนหลับ ร่างกายจะมีการผ่อนคลายลง ดังนั้นทางเดินหายใจส่วนต้นซึ่งประกอบด้วยจมูก เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ทอนซิล โคนลิ้นและฝาปิดกล่องเสียงจะหย่อนยานลง เพราะฉะนั้นเมื่อมีการหายใจผ่านทางเดินหายใจที่ตีบแคบ จะทำให้เกิดเสียงกรนเกิดขึ้น และโดยเฉพาะใครก็ตามที่มีความอ้วน มีเหนียงรอบคอ ก็จะยิ่งทำให้กดทางเดินหายใจ ดังนั้นยิ่งทำให้เรามีเสียงกรนที่ดังมากขึ้น
สารบัญ
- นอนกรนมีกี่ประเภท ?
- อาการนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น มีอาการอย่างไร ?
- อันตรายจากนอนกรน คืออะไร ?
- เมื่อไหร่ควรเข้ารับการตรวจ Sleep Test ?
- การนอนหลับแบบไหนเข้าข่าย...ผิดปกติ
- ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนเข้ารับการตรวจ Sleep Test ?
- แนวทางการรักษาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ?
- การรักษาแบบผ่าตัด
- อ้างอิง
นอนกรนมีกี่ประเภท ?
นอนกรน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
ประเภทที่ 1 นอนกรนเพียงอย่างเดียว
ประเภทที่ 2 นอนกรนร่วมกับมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นร่วมด้วย ซึ่งประเภทที่ 2 นี้ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา
อาการนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น มีอาการอย่างไร ?
- ตื่นมาตอนเช้าแล้วรู้สึกไม่สดชื่น ทั้งๆ ที่นอนมาจำนวนชั่วโมงก็เพียงพอ หรือแม้แต่รู้สึกปวดศีรษะหลังจากตื่นนอน
- กลางคืนตื่นขึ้นมาเพราะมีอาการสำลักน้ำลาย หรือแม้แต่ลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อยครั้ง
อันตรายจากนอนกรน คืออะไร ?
- ระบบความจำ ทำให้สมองของเราไม่สามารถเก็บความทรงจำที่เกิดขึ้นในวันนั้นเรียบเรียงลงไปเป็นความจำระยะยาวได้ ดังนั้นแล้วจะทำให้เรามีความทรงจำที่สั้นลง
- อย่างที่ 2 ที่เรากังวลกันมาก คือ ความง่วงกลางวัน ในยามที่เราง่วงกลางวัน สิ่งที่ตามมาคือ ทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะที่ขับรถหรือยวดยานพาหนะต่างๆ หรือการทำงานใกล้เครื่องจักรก็จะมีการสูญเสียอวัยวะนั้นไป
- การทำงานในตอนกลางวันเสื่อมถอยไม่มีประสิทธิภาพ
เมื่อไหร่ควรเข้ารับการตรวจ Sleep Test ?
เราควรจะเข้าตรวจ Sleep Test หรือตรวจการนอนหลับ ก็ต่อเมื่อเราเริ่มมีความผิดปกติโดยเฉพาะในเรื่องของความง่วง ถ้าเรามีความง่วงแม้ว่าเราจะนอนจำนวนชั่วโมงเพียงพอแล้วก็ตาม ควรจะมาตรวจว่าคุณภาพในการนอนหลับของเราดีหรือไม่ในตอนนอน หรือแม้แต่ว่าขับรถเริ่มมีหลับใน ต้องจอดข้างทาง แนะนำให้มาตรวจ
เรื่องของความจำที่ถดถอย ทำไมช่วงนี้เราจำอะไรไม่ค่อยได้ เริ่มมีสุขภาพด้านหัวใจและหลอดเลือดอย่างที่กล่าวไปว่าความดันโลหิตสูงขึ้น ควบคุมไม่ได้ หรือแม้แต่หัวใจเริ่มเต้นผิดจังหวะ เริ่มมีภาวะหัวใจวาย และที่สำคัญก็คือ ทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้งในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นอาการหนึ่งที่ทำให้คนไข้นอนหลับไม่ได้
การนอนหลับแบบไหนเข้าข่าย...ผิดปกติ
- นอนกรนเสียงดัง, หยุดหายใจขณะหลับ และสะดุ้งเฮือกระหว่างนอน
- นอนหลับไม่สนิท
- ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น, มึนศีรษะช่วงเช้า
- อาการเพลียหรือง่วงช่วงกลางวัน
- นอนละเมอ
- นอนกัดฟัน
- ง่วงนอนกลางวันมากร่วมกับสงสัยภาวะลมหลับ
หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังกล่าว ควรเข้ามารับการตรวจการนอนหลับ (Polysomnogram) เพื่อสุขภาพการนอนที่ดี
- เพราะการนอนหลับที่ผิดปกติส่งผลต่อภาวะความผิดปกติของหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, หลอดเลือดสมองตีบ, เบาหวาน, กรดไหลย้อน, ความจำลดลง, ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- ภาวะความง่วงนอนผิดปกติในช่วงกลางวันอาจเกิดจากภาวะลมหลับ (Nacrolepsy) ซึ่งสาเหตุเกิดจากความผิดปกติ ของสารสื่อประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง
ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนเข้ารับการตรวจ Sleep Test ?
- 1. ผู้ป่วยสามารถเตรียมเสื้อผ้าสำหรับใส่นอน ผ้าเช็ดตัว ชุดอาบน้ำ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ประจำ เช่น หมอน ผ้าห่ม หมอนข้าง เพื่อให้การนอนคุ้นเคยกับสภาวะแวดล้อมเดิม
- 2. ผู้ป่วยควรเข้ามารับการตรวจในช่วงการนอนหลับเพียงผู้เดียว ยกเว้นในกรณีผู้สูงอายุที่ต้องมีคนดูแล
- 3. ผู้ป่วยที่มียาประจำตัวสามารถรับประทานยาได้ตามปกติ ห้ามรับประทานยานอนหลับ ยกเว้นในรายที่แพทย์อนุญาต หรือ จัดยาให้รับประทานก่อนการตรวจ
- 4. ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารเย็นมาก่อน สำหรับอาหารมื้อเช้าทางโรงพยาบาลจะจัดเตรียมไว้ให้
- 5. ห้ามดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนเข้ามารับการตรวจหรือก่อนนอน ยกเว้นในรายที่ดื่มเป็นประจำและต้องให้แพทย์ที่ทำการรักษาอนุญาตเท่านั้น
- 6. ห้ามรับประทานยาถ่าย หรือยาระบายก่อนเข้ารับการตรวจ
- 7. ห้ามทาเล็บมือ ควรตัดเล็บมือให้สั้นและโกนหนวดเคราก่อนเข้ารับการตรวจ
- 8. ผู้ที่เข้ารับการตรวจควรสระผมให้สะอาด ห้ามใส่น้ำมัน ใส่ครีมที่ศีรษะหรือทาครีมและแป้งบริเวณใบหน้า ลำตัว แขน ขา เพราะจะมีผลต่อการติดอุปกรณ์การตรวจ
- 9. หากท่านไม่สบาย เช่น เป็นไข้ ควรแจ้งกับทางโรงพยาบาลก่อน
- 10. ผู้ป่วยควรเดินทางมาถึงโรงพยาบาลในเวลาประมาณ 19:00 น. และติดต่อรับการตรวจได้ที่ ห้องตรวจการนอนหลับ ชั้น 16 อาคาร 16 ชั้น
แนวทางการรักษาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ?
ปัจจุบันเราแบ่งการรักษาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ออกเป็นทางหลักและทางเลือก โดยการรักษาทางหลัก ยังแบ่งออกเป็น 2 ทาง คือ แบบไม่ผ่าตัดและผ่าตัด
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
วิธีที่ 1 คือ การใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP : Continuous Positive Airway Pressure) ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการรักษากลุ่มภาวะโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
วิธีที่ 2 คือ การใส่ทันตอุปกรณ์แก้กรน ซึ่งปัจจุบันจะช่วยในเรื่องของภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยได้
การรักษาแบบผ่าตัด
วิธีการผ่าตัดในปัจจุบันมีวิธีการที่หลากหลายมาก โดยหลักๆ แล้วคือ เน้นว่าถ้าอวัยวะส่วนใดของเราตีบลงโดยเฉพาะทางเดินหายใจส่วนต้น เราก็จะแก้เปิดทางนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในจมูกเรามีภาวะเยื่อบุจมูกบวม มีผนังกั้นจมูกคด หรือมีริดสีดวงในจมูก เราก็จะผ่าตัดแก้ทั้งในเรื่องของเยื่อบุโพรงจมูกที่บวมให้ฝ่อลงด้วยการจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ หรือแม้แต่ตัดผนังกั้นจมูกที่คดให้กลับมาตรง หรือตัดริดสีดวงจมูกออก
และส่วนอื่นๆ เช่น เพดานอ่อน ทอนซิล ลิ้นไก่ หรือโคนลิ้น ก็จะมีวิธีแก้ไขและปรับหลากหลายมากมาย เช่น เพดานอ่อน ปัจจุบันมีเทคนิคใหม่ที่ไม่ได้เจ็บตัวมากและไม่ได้เสียเวลาผ่าตัดนาน คือ การร้อยไหมที่บริเวณเพดานอ่อน
การร้อยไหมที่บริเวณเพดานอ่อน (Barbed Suspension Pharyngoplasty)
การรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหมที่เพดานอ่อน (Barbed Suspension Pharyngoplasty) ทางเลือกสำหรับการรักษาการนอนกรนแบบที่มีการอุดกั้นทางเดินหายในส่วนบนและมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย “ด้วยวิธีการเย็บตกแต่งลิ้นไก่ เพดานอ่อนและคอหอย เพื่อปรับให้โครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนต้น แก้ปัญหาการตีบแคบของทางเดินหายใจ”
ทั้งนี้การร้อยไหมที่เพดาน เพื่อเปิดให้เพดานของเรายกกระชับ เปิดทางเดินหายใจของเราขึ้นไป หรือแม้แต่โคนลิ้น ถ้ามีภาวะบวม หนา ก็สามารถจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุให้โคนลิ้นยุบลงได้
อีกทั้งยังมีการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักด้วย วีธีการผ่าตัดรัดกระเพาะในปัจจุบันก็เข้ามามีบทบาทมากโดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ที่อ้วนมากๆ มีภาวะอ้วนจนกระทั่งดัชนีมวลกายมากว่า 40 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
การรักษาทางเลือก คือ
- การปรับท่านอน โดยให้พยายามนอนตะแคง
- เทคนิคใหม่เป็นอุปกรณ์เสริมเรียกว่า Sleep Position Trainer ลักษณะคล้ายๆ กับเป็นสายรัดคอ และมีตัวเซนเซอร์อยู่ด้านหลัง เมื่อไหร่ที่เรานอนหงาย อุปกรณ์ก็จะสั่นทำให้เราต้องพลิกตัวนอนตะแคงโดยอัตโนมัติ
- การใช้ Nasal Strips หรือแผ่นแปะที่จมูก หลายๆ ท่าน คงอาจเคยเห็นหรือเคยใช้ เพื่อขยายทางเดินหายใจที่ส่วนจมูกให้เปิดกว้างขึ้น วิธีนี้ก็ช่วยแก้กรนได้
- หรือแม้แต่กลุ่มคนที่มีอาการภูมิแพ้ เยื่อบุจมุกบวม การพ่นยาพ่นโล่ง หรือพ่นยากลุ่มสเตียรอยด์ที่ช่วยเปิดทางเดินหายใจก็จะทำให้ทางเดินหายใจเราเปิดกว้างขึ้นได้
- หรือการใช้เทคนิคการฝังเข็ม ก็เป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งยังเป็นเทคนิคใหม่แต่ยังต้องการการวิจัยต่อไป เพราะตอนที่ฝังเข็มก็มีรายงานว่าทำให้ค่าหยุดหายใจขณะหลับของเราลงไปมากอย่างมีนัยยะสำคัญได้ ดังนั้นถ้าเราจะใช้ทางเลือกไหนแนะนำให้มาพบแพทย์ก่อนเพื่อเลือกแนวทางที่ถูกต้อง
อ้างอิง
-
1.คลิป VDO เรื่อง นอนกรนอันตรายอย่างไร
https://www.youtube.com/watch?v=UHTthF9VZ9Qพญ.เพชรรัตน์ แสงทอง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโสต ศอ นาสิกวิทยา และเวชศาสตร์การนอนหลับ2.บทความ เรื่อง ภาวะนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ
https://www.nonthavej.co.th/Sleep-Test-1.phpนพ. สิริชัย กิตติชาญธีระ
อายุรแพทย์ระบบประสาท และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการหลับ
ศูนย์ตรวจการนอนหลับ
ศูนย์สมองและระบบประสาท