การนอนหลับในผู้สูงอายุพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทั้งในคุณภาพและปริมาณ สิ่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต, ปัญหาสุขภาพโรคหัวใจและหลอดเลือด และที่สำคัญยังมีผลต่อการทำงานของสมอง, ระบบประสาท, อารมณ์ และพฤติกรรม โรคทางสมองและระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับในผู้สูงอายุมีหลายกลุ่มอาการ อาทิ เช่น โรคสมองเสื่อม, โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต, ภาวะปวดศีรษะ ภาวะการนอนหลับผิดปกติมีผลโดยตรงต่อโรคดังกล่าว ในขณะเดียวกันการมีโรคดังกล่าวก็ส่งผลให้เกิดการนอนหลับผิดปกติเช่นกัน
โรคทางสมองและระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับในผู้สูงอายุที่พบบ่อย
• โรคสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ สาเหตุสมองเสื่อมได้แก่ ภาวะอัลไซเมอร์, ภาวะสมองเสื่อมจากหลอดเลือดสมองเป็นต้น ภาวะการนอนหลับผิดปกติที่เจอได้ในผู้ป่วยได้แก่ ภาวะนอนไม่หลับ, ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA), ภาวะนาฬิกาชีวิตแปรแปรวน หลับไม่เป็นเวลา, ภาวะละเมอ, ภาวะขากระตุก หรือแม้แต่ภาวะสับสนซึ่งมักเกิดขึ้นช่วงเย็นหรือกลางคืน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของกลไกที่ควบคุมการนอนหลับ, ปัญหาการเจ็บป่วยทางร่างกาย, ปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา, ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนดูแล นอกจากนี้ข้อมูลทางการศึกษาล่าสุดพบว่าการนอนหลับที่ผิดปกติเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เช่นอัลไซเมอร์ ดังนั้นการนอนหลับที่ดีทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสมก็อาจจะช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้
• ภาวะอัมพาต
ภาวะอัมพาตเป็นภาวะที่เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่อาจจะตีบหรือแตก ผลที่ตามมาทำให้เกิดอาการอ่อนแรงช่วยเหลือตัวเอง ทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่ปกติ มีการศึกษาพบว่า การนอนหลับผิดปกติ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) มีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดทางสมอง ซึ่งกลไกเชื่อว่าการที่สมองขาดออกซิเจนซ้ำๆ ขณะหลับ ,การเพิ่มขึ้นของกระบวนการอักเสบ, การกระตุ้นของระบบประสาทอัตโนมัติ อาจจะนำไปสู่การเกิดความดันสูง และโรคหลอดเลือดทางสมอง มีการศึกษาพบว่าการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกอย่างสม่ำเสมอในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น อาจจะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ นอกจากนี้การรักษาภาวะดังกล่าวในผู้ป่วยที่มีภาวะอัมพาตยังมีข้อมูลว่าช่วยให้เกิดการฟื้นตัวดีขึ้น
• ภาวะปวดศีรษะ
ภาวะปวดศีรษะเป็นอาการที่สัมพันธ์กับการนอนหลับโดยพบว่าในผู้ป่วยที่นอนปริมาณไม่เพืยงพอ, นอนไม่หลับ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น อาจเกิดภาวะปวดศีรษะได้ง่าย บางครั้งอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น ไม่สดชื่น, สมองไม่ปลอดโปร่ง, อ่อนล้า, ง่วงนอน โดยเฉพาะ อาการปวดมึนศีรษะช่วงเช้าหลังตื่นนอน การรักษาโรคความผิดปกติจากการหลับพบว่าช่วยลดภาวะปวดศีรษะและลดอาการอ่อนล้า ไม่สดชื่นได้
ดังที่กล่าวไปเป็นเพียงตัวอย่างของโรคทางสมองในผู้สูงอายุที่มีความสัมพันธ์กับการนอนหลับทั้งในแง่ของการเป็นสาเหตุซึ่งกันและกัน ดังนั้นการนอนหลับที่ดีย่อมส่งผลต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท ที่ปกติและคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ของผู้สูงอายุ
ผู้เรียบเรียง
นพ. สิริชัย กิตติชาญธีระ
อายุรแพทย์ระบบประสาทและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการหลับ
ศูนย์โรคผิดปกติการหลับ