ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คืออะไร ?
ออฟฟิศซินโดรม หรือ Office Syndrome กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ และเยื่อพังผืดมักพบบริเวณ คอ บ่า ไหล่ หลัง ที่มีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม หรือ พฤติกรรมการทำงานที่ไม่เปลี่ยนท่าทาง ทำให้เกิดการบาดเจ็บสะสม จนกล้ามเนื้อมีเวลาฟื้นตัวไม่เพียงพอ
อย่างที่ทราบกันว่าออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องโรคที่เกิดจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว การทำงานใดก็ตามที่มีการทำต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ และทำในท่าซ้ำๆ เช่น ปัจจุบันจะมีการทำงานผ่านสมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานาน หรือการทำงานในไลน์การผลิตที่มีท่าซ้ำๆ ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน
โดยโรคนี้เองจะไม่ได้มีเฉพาะอาการของกระดูกและกล้ามเนื้อ จะมีเรื่องของอาการย่อยและการดูดซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบฮอร์โมน นัยน์ตาและการมองเห็น แต่ว่าอาการที่มาพบบ่อยๆ ได้แก่ อาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลังส่วนล่าง
อาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)
“ท่านั่งที่ไม่เหมาะสมเกิดโรคอะไรได้บ้าง ?” ปัจจัยที่ทำให้โรคออฟฟิศซินโดรมมีอาการมากขึ้นหรือเป็นมากขึ้นกว่าปกติ ได้แก่ ท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การนั่งก้มหน้า นั่งคอยื่น ห่อไหล่ นั่งหลั่งโก่งไม่พิงเบาะ ข้อศอกลอย เท้าลอยจากพื้น และมีการงอเข่า ซึ่งก็จะทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดหัวไหล่ ปวดหลังส่วนล่าง ปวดเข่า เจ็บข้อศอก พังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ และมีอาการชามือ รวมถึงมีอาการเอ็นข้อมืออักเสบ หรือทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากความตึงเครีย
ออฟฟิศซินโดรม จำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือไม่ ?
ผลกระทบระยะยาวจากออฟฟิศซินโดรมคืออะไร ? หากเราไม่รักษาออฟฟิศซินโดรม จะทำให้เกิดโรคเรื้อรังตามมาได้แก่
- โรคกระดูกหลังส่วนคอเสื่อมทับเส้นประสาท โดยจะมีอาการนอกจากปวดที่บริเวณคอ บ่า ไหล่แล้ว จะมีอาการเพิ่มคือ อาการชาร้าวไปที่แขน อาจจะมีอาการอ่อนแรงหรือมีอาการที่แขนและมือร่วมด้วยก็ได้
- หมอนรองกระดูกสันหลังระดับเอวทับเส้นประสาท ก็จะไม่ใช่แค่อาการปวดหลังธรรมดา อาการปวดนี้จะเป็นอาการปวดร้าวลงขา มีอาการชาขาและอ่อนแรงร่วมด้วย
- โรคของความเสื่อมข้อติดกระดูกสันหลัง มักจะมีอาการปวดตอนหลังตื่นนอน หากขยับร่างกายแล้วก็จะมีอาการดีขึ้นบ้าง
- โรคช่องกระดูกสันหลังตีบ ซึ่งจะมีอาการปวดหลังร้าวลงขา มักเป็นในขณะยืน เดิน
โดยอาการเหล่านี้ ไม่ได้รักษาและวินิจฉัยเพียงแค่การซักประวัติเท่านั้น ต้องมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายและมีการเอกซเรย์ร่วมด้วย
คลินิกออฟฟิศซินโดรม โรงพยาบาลนนทเวช
พร้อมให้บริการดูแลรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่มีอาการ ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง อันเกิดจากการทำงานในสภาพแวดล้อม ที่ไม่เหมาะสม การใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมหรืออิริยาบถท่าทางต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูและทีมกายภาพบำบัด พร้อมด้วยอุปกรณ์ เครื่องมือ เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย และพึงพอใจในการ รับบริการสูงสุด
วิธีการรักษาออฟฟิศซินโดรม
การรักษาเพื่อลดอาการปวดร้าว และคลายกล้ามเนื้อฝืดตึงจากปมพังผืด (Trigger Point Eradication) สามารถรักษาด้วยวิธีการ ดังนี้
- การรักษาด้วยการยืดกล้ามเนื้อ (Stretching)
- การรักษาด้วยวิธีการนวด (Massage)
- การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยแสงเลเซอร์ (High Intensity Laser Therapy)
- การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยคลื่นกระแทก (Shock wave Therapy)
- การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยอัลตร้าซาวด์ (Therapeutic Ultrasound)
- การแทงเข็มที่ปมพังผืด (Dry needling)
- การฉีดยาที่ปมพังผืด (Trigger point Injection)
- การฝังเข็มแบบจีน (Acupuncture)
- การรักษาด้วยยา (Medication)
การป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรมมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรม แนวทางการรักษาสามารถเริ่มได้ที่ตัวเอง ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงาน ปรับอิริยาบถให้อยู่ในท่าทางที่สมดุล การป้องกันการเป็นซ้ำ สามารถทำได้ดังนี้
- การปรับสภาพแวดล้อมและอุปกรณ์ในการทำงาน เพื่อให้ ผู้ทำงานอยู่ในท่าทางที่สมดุล ลดการบาดเจ็บซ้ำ
- ฝึกท่าทางในการทำงานให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์
- ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ โดยการเล่นโยคะ หรือรำไม้พลอง
- ว่ายน้ำเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ หลัง
- รักษาปัจจัยร่วมอื่นๆ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
อ้างอิง
บทความ เรื่อง ออฟฟิศซินโดรม
https://www.nonthavej.co.th/Office-Syndrome.php
พญ.อาภารัตน์ สุริยวงศ์พงศา
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู