ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สาเหตุหัวใจเต้นผิดปกติ เช็คอาการ การรักษา ?

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สาเหตุหัวใจเต้นผิดปกติ เช็คอาการ การรักษา ?

   โดยปกติหัวใจจะเต้นอย่างสม่ำเสมอ อยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที ด้วยความเร็วที่เปลี่ยนไปตามกิจกรรมของร่างกาย ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็น หัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ หัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ  เต้นเร็วสลับเต้นช้า

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) โรคหัวใจที่พบได้บ่อย เกิดจากกระแสไฟฟ้าภายในหัวใจมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การสูบฉีดเลือดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) คืออะไร ? /มีอาการและสัญญาณเตือนอย่างไร ?

   ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) คือ การที่หัวใจของเราเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองเพิ่มมากขึ้น

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีสาเหตุจากอะไร ?

โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูง
โรคประจำตัว ไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
พันธุกรรม 
ความผิดปกติแต่กำเนิดหรือความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ
ความเครียด วิตกกังวลเกินไป พักผ่อนไม่เพียงพอ
ยาและสารบางชนิด มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ
ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนผสม เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นเร็วเกินไป
หัวใจเต้นช้าเกินไป
ใจสั่น หัวใจเต้นแรงผิดปกติ
หน้ามืด เป็นลม หมดสติ
แน่นหน้าอก
เหนื่อย นอนราบไม่ได้ 
เหนื่อยง่ายกว่าปกติ 
อ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก
พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง

อัตราการเต้นของหัวใจปกติเป็นอย่างไร ?

อัตราการเต้นของหัวใจหมายถึง อัตราการเต้นของหัวใจจำนวนครั้งต่อนาที (Beat Per Minute: BPM) อัตราการเต้นจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับกิจกรรม การเคลื่อนไหวและสิ่งกระตุ้น

  • หัวใจเต้น แบบปกติ 60-100 ครั้งต่อนาที
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที
  • ​หัวใจเต้นช้าผิดปกติ น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที
การวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • เป็นการวินิจฉัยโรคหัวใจเบื้องต้น ด้วยการตรวจกระแสไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อหัวใจผลิตออกมาขณะที่หัวใจบีบตัว โดยคลื่นไฟฟ้าจะช่วยบอกจังหวะการเต้นของหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจ บอกขนาดห้องหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจตาย
 
ติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง รวมถึงการเฝ้าระวังความผิดปกติ (Holter Monitering ECG) 
  • เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง ไว้กับตัว สามารถกลับไปพักที่บ้าน หรือทำงานได้ตามปกติ เพื่อตรวจดูลักษณะของคลื่นหัวใจในขณะผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหรือคลื่นหัวใจที่ผิดปกติแม้จะไม่มีอาการภายในช่วงเวลา 24-48 ชั่วโมง โดยอาการตรวจนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะมีปัญหาใจสั่นผิดปกติเป็นครั้งคราว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลมอยู่เสมอ เวียนศีรษะ ใจเต้นแรงผิดปกติเป็นประจำแต่บางครั้งขณะมาพบแพทย์อาการดังกล่าวไม่ปรากฏ
 วิธีการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะขึ้นอยู่กับอาการของคนผู้ป่วย แพทย์จะเลือกรูปแบบของการรักษา ตามสาเหตุ อาการ และระดับความรุนแรงของโรค

  • รับประทานยา เพื่อช่วยควบคุมหัวใจของผู้ป่วยให้เต้นตามปกติ การใช้ยาจะได้ผลดีกับภาวะหัวใจเต้นบางชนิด จะช่วยลดความถี่ของภาวะนี้ และลดความรุนแรงได้ แต่จะไม่ช่วยให้หายขาด
  • รักษาด้วยเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ  วิธีนี้จะช่วยปรับอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นไปตามปกติ นิยมใช้กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเรื่องหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ โดยอุปกรณ์ชนิดนี้จะทำหน้าที่กระตุ้นหัวใจ หากหัวใจเต้นช้าเกินไป และปล่อยพลังงานไฟฟ้าหากหัวใจเต้นเร็ว เพื่อให้จังหวะการเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ คล้ายกับเป็นการรีเซ็ตหัวใจนั่นเอง
  • จี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง เหมาะกับกรณีเป็นซ้ำๆ และในรายที่มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ

ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือขนาดเล็กที่ทำงานด้วยระบบแบตเตอรี่ โดยถูกฝังใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกด้านซ้ายใต้กระดูกไหปลาร้า จากนั้นจึงสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจ ทำหน้าที่ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ ข้อดี คือ รักษาอาการหัวใจเต้นช้าได้ดีมาก แต่ข้อเสีย คือ เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปอยู่ในร่างกาย

การป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทป้องกันได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เพียงปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โปรตีนและโอเมก้า 3 ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ เพื่อบำรุงหัวใจให้แข็งแรง ให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น ลดอาหารที่มีไขมันสูง เพื่อควบคุมความดันโลหิต และช่วยรักษาระดับคอเลสเตอรอลให้ปกติ
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นระบบหมุนเวียนโลหิต ทำให้หัวใจแข็งแรง แต่ต้องระวังอย่าให้เกลือแร่ต่ำ หากออกกำลังกายแล้วเสียเหงื่อเยอะควรต้องดื่มน้ำเกลือแร่
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
FAQs
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะตายได้ไหม ?
ความรุนแรงของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นอยู่กับชนิดและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย  กรณีเป็นชนิดโรคที่ไม่รุนแรง สามารถบำบัดด้วยการปรับพฤติกรรมของตัวคนไข้ได้ แต่กรณีที่ชนิดหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะแบบรุนแรง หากปล่อยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
 
หัวใจเต้นผิดจังหวะเสี่ยงเป็นโรคอะไร ?
หากหัวใจของเราเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองเพิ่มมากขึ้น
 
เราจะรู้ได้ไงว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ ?
การวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีวิธี  ดังนี้
  • 1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • 2. ติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง รวมถึงการเฝ้าระวังความผิดปกติ (Holter Monitering ECG)
  • 3. การทดสอบสมรรถภาพหัวใจโดยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test)
  • 4. การตรวจคลื่นสะท้อนเสียงหัวใจ (Echocardiography)
  • 5. การฉีดสีสวนหัวใจ หรือฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography)

 

อ้างอิง

1.แนะนำบริการศูนย์หัวใจ
https://www.nonthavej.co.th/heart-center-section1.php

2.คลิป เรื่อง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia)
https://www.youtube.com/watch?v=72F0Y95DTZU