การผ่าตัด...ชุบชีวิตใหม่ได้อย่างไร

การผ่าตัด...ชุบชีวิตใหม่ได้อย่างไร

   ดิฉันมีอาการปวดท้องมากจนต้องเรียกรถพยาบาลมารับ ผล MRI ออกมาก็ไม่ชัดเจน คุณหมอสั่งแอดมิทเพื่อรอดูอาการ 1 คืน เพื่อตรวจดูก่อนว่าคืออะไร ต้องหาสาเหตุให้ได้ ตกดึกรู้สึกไม่ไหวจริงๆ เหงื่อท่วมตัว อาเจียนเป็นสีช็อกโกแลต จนซักพักหนึ่งเรารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เราก็เป็นลมไปเลย จึงถูกย้ายลง I.C.U และช็อกอยู่ใน I.C.U ประมาณ 3 ครั้ง

   คุณหมอชาญปรีชาบอกว่าดิฉันเป็น “ภาวะลำไส้ใหญ่อุดตันแบบเฉียบพลัน” ซึ่งหายากมาก คนที่จะเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนไข้ติดเตียงหรือผู้สูงอายุ ซึ่งอายุเท่าเราขนาดนี้ไม่ควรจะเป็น คุณหมอก็ไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นได้อย่างไร แต่ว่าต้องผ่าตัดด่วน คุณหมอบอกว่าโอกาสรอดน้อยมาก คนไข้วิกฤติมากจริงๆ แต่อาจารย์ชาญปรีชา เป็นอาจารย์ที่ให้กำลังใจครอบครัว ท่านมีสติมาก นิ่งมาก บอกแผนการผ่าตัด จะตัดประมาณไหน คนไข้ฟื้นมาจะเป็นอย่างไร ทำให้ครอบครัวอุ่นใจขึ้น มั่นใจในตัวคุณหมอ โดยใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 3 ชั่วโมง ดิฉันอยู่ I.C.U ประมาณ 5 วัน หลังจากนั้นก็ย้ายขึ้นมาอยู่ห้องพักคนไข้วอร์ดปกติ ประมาณ 20 กว่าวัน

   คุณหมออธิบายให้ครอบครัวฟังว่า ถ้าช้าสักประมาณ 1 ชั่วโมงคือไม่รอดแล้วเพราะว่าลำไส้เราบวมมาก บวมเป็นสีม่วง ลำไส้ตาย ตัดลำไส้ใหญ่ออกเหลือประมาณ 10 เซนติเมตร คุณหมอเจาะหน้าท้องเอาไว้เพราะว่าต้องพักลำไส้เนื่องจากลำไส้เสียหายเยอะมาก ข้างในติดเชื้อและมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดด้วย หลังจากออกมาจากห้องผ่าตัดก็ยังไม่มีสติ ไม่ค่อยรู้อะไรเลย ตอนที่ฟื้นขึ้นมาก็รู้สึกตกใจ เพราะว่ามีอะไรก็ไม่รู้เต็มปาก หายใจไม่ได้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ต้องเจาะคอ สายเต็มไปหมดเลยทั้ง 2 แขน กางหรือขยับตัวไม่ได้เลย รู้เพียงแค่ว่า “เรารอดตายแล้ว”

ขอขอบพระคุณโรงพยาบาลนนทเวชมากๆ และสิ่งที่เป็นกำลังใจมากที่สุดเลย คือ นพ.ชาญปรีชา จันทรจำนง, ผศ.นพ.ปุณวัฒน์ จันทรจำนง, นพ.ทวีพงษ์ เหลืองอ่อน, นพ.วัฒนชัย งามพงศ์พรรณ, นพ.กาจพงศ์ เตชธุวานันท์ และนพ.ปรัชญา ภัสสรานนท์ ซึ่งน่ารักมาก มาดูแลดิฉันวันละหลายๆ รอบ หาข้อมูลมาให้ ทีมพยาบาล I.C.U ประคับประคองเราอย่างมาก จนทุกคนในครอบครัวพูดเหมือนกันเลยว่า “ถ้าแม่ไม่ได้มาที่นนทเวช...แม่ไม่รอดแน่นอน” ต้องขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ “บอกได้เลยว่าดิฉันเป็นหนี้ชีวิตกับนนทเวชมากๆ”

   กรณีของคุณพรธิดา เป็น “ภาวะลำไส้ใหญ่อุดตัน” แต่รอยโรคเป็นโรคที่เจอค่อนข้างน้อย เรียกว่า “โรคลำไส้ขี้เกียจ” ตอนที่แพทย์รับการปรึกษาให้มาดูเคสนี้ คนไข้อาการค่อนข้างหนักมากแล้ว มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ความดันตก และต้องให้ยากระตุ้นความดันหลายตัว แต่ในเคสนี้โชคดีที่ได้รับการผ่าตัดที่ทันท่วงที ทำให้สุดท้ายแล้วผลการรักษาเป็นไปได้ด้วยดีครับ