สารบัญ
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คืออะไร ?
- การนอนกรนที่เป็นอันตราย มีอาการอย่างไร ?
- อาการของภาวะนอนกรนที่เกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) ?
- ปัจจัยเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) ?
- การตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของการนอนหลับ (Polysomnography)
- การประเมินความเสี่ยงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA)
- การวินิจฉัย
- การรักษา
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คืออะไร ?
ปัญหาการนอนหลับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วมักมีผลกระทบต่อสุขภาพกาย, จิตใจ, การใช้ชีวิตประจำวัน,คุณภาพชีวิตและการทำงาน ปัญหาการนอนหลับเกิดได้จากคุณภาพการนอนผิดปกติหรือปริมาณการนอนที่ไม่เพียงพอ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจาการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) นอกจากเสียงกรนแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีอาการหลับไม่ต่อเนื่อง, หยุดหายใจขณะหลับ, ออกซิเจนในเลือดต่ำขณะหลับ, ปัสสาวะบ่อย, ตื่นมาไม่สดชื่น,ปวดศีรษะ และ มีอาการง่วงกลางวันเป็นต้น ปัจจจุบันมีข้อมูลว่าโรคดังกล่าวส่งผลต่อภาวะความผิดปกติของหัวใจ,หลอดเลือด, ความดันโลหิตสูง, หลอดเลือดสมองตีบ,เบาหวาน,กรดไหลย้อน, ความจำลดลง หรือแม้แต่ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
การนอนกรนที่เป็นอันตราย มีอาการอย่างไร ?
ภาวะนอนกรน ที่เกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น(obstructive sleep apnea) เป็นภาวะที่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้นมีการตีบแคบลงซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากกายวิภาคของกล้ามเนื้อในช่องคอ ,ลิ้นมีการย่อนไปปิดทางเดินหายใจส่วนต้นโดยเฉพาะขณะหลับหรือการที่ช่องคอที่ลักษณะแคบ ผลทำให้อากาศและออกซิเจนไม่สามารถ เข้าสู่ปอดไปเลี้ยงร่างกายและสมองได้ คนไข้จะมีภาวะตื่นบ่อย(arousals) ออกซิเจนต่ำในร่างกาย,มีการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อุบัติการณ์ในการเกิดโรคในประเทศไทยพบความชุกสูงถึงร้อยละ 15.4 ในผู้ชายและร้อยละ 6.3 ในผู้หญิง
การหายใจปกติ – ลมหายใจสามารถผ่านสู่ทางเดินหายใจได้ปกติ
ภาวะนอนกรนหยุดหายใจจากการอุดกั้น – ส่งผลให้ลมหายใจผ่านได้น้อยกว่าปกติ
อาการของภาวะนอนกรนที่เกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) ?
- • กรน
- • หยุดหายใจขณะหลับ
- • หายใจเฮือก
- • หลับไม่สนิท
- • ปัสสาวะบ่อยกลางคืน
- • ปวดศีรษะตอนเช้า และง่วงนอนกลางวัน
ปัจจัยเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) ?
- • เพศชาย
- • อายุ
- • ภาวะอ้วน
- • รอบคอที่กว้าง
- • ความดันโลหิตสูง
- • ลักษณะโครงสร้างของใบหน้าที่ผิดปกติ
- • สำหรับปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่, การดื่มสุรา, การทานยานอนหลับ, ภาวะภูมิแพ้หรือความผิดปกติในช่องจมูก
การตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของการนอนหลับ (Polysomnography)
เป็นการตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติของการนอนหลับ โดยตรวจในช่วงเวลากลางคืนประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาล 1 คืน ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวัดคลื่นสมอง ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจวัดลมหายใจ ตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ตรวจเสียงกรน ตรวจท่านอนและ ตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือด ประมวลผลโดย เจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับและรายงานผลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การประเมินความเสี่ยงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA)
นิยมใช้ STOPBANG questionaire*
ดังแบบสอบถามด้านล่างซึ่งพบว่าถ้ามีปัจจัยตั้งแต่สามข้อขึ้นไปถือว่ามีความเสี่ยงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
- : Snoring คุณนอนกรนดังหรือไม่ (ดังกว่าเสียงพูดหรือดังจนได้ยินออกไปนอกห้อง)
- : Tired คุณมักรู้สึกอ่อนเพลีย ล้า หรือง่วงนอนในระหว่างกลางวันบ่อยๆหรือไม่
- : Observe มีคนเคยสังเกตว่าคุณหยุดหายใจขณะที่หลับอยู่หรือไม่
- : Pressure คุณมีความดันโลหิตสูง หรือกำลังรักษาความดันโลหิตอยู่หรือไม่
- : BMI ค่า BMI เกิน 35 kg/m2
- : Age อายุเกิน 50 ปี หรือไม่
- : Neck size เส้นรอบวงคอมากกว่า 40 ซม. หรือไม่
- : Gender เพศชาย
* Reference: Wish Banhiran MD. Diagnostic Properties of the STOP-Bang and Its Modified Version in Screening for Obstructive Sleep Apnea in Thai Patients. J Med Assoc Thai. 2014;97 (6): 644-54.
การวินิจฉัยซึ่งถือว่าเป็นมาตราฐานคือการตรวจการนอนหลับ Polysomnography หรือ sleep test
เพื่อการวินิจฉัยและประเมินถึงความรุนแรง โดยการตรวจภายในโรงพยาบาลอาศัยเครื่องมือทางการแพทย์ ที่เหมาะสมร่วมกับเจ้าหน้าตรวจการนอน หลับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้สังเกตการณ์ (level I) เป็นการตรวจแบบละเอียดเพื่อให้ข้อมูลที่เหมาะสม อันได้แก่
- 1.การตรวจวัดคลื่นสมอง และการกรอกตา เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ
- 2.ตรวจวัดความตึงตัวของกล้ามเนื้อขณะหลับ
- 3.ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- 4.ตรวจวัดคุณภาพลมหายใจที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก
- 5.ตรวจวัดการเคลื่อนใหวของทรวงอกและท้องขณะหายใจ
- 6.ตรวจวัดระดับความเข้มข้นของออกซิเจนขณะนอนหลับ
- 7.ตรวจวัดระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขณะนอนหลับ
- 8.ตรวจวัดระดับของการกรน
- 9.ตรวจลักษณะท่านอนขณะหลับ
- 10.ตรวจบันทึกความผิดปกติของการเคลื่นไหวระหว่างนอนหลับ
การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) ประกอบไปด้วย
- • การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP)
- • การรักษาด้วยทันตอุปกรณ์ (oral appliance)
- • การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดทางเดินหายใจ
- • การรักษาอื่นๆ เช่นหลีกเลียงการนอนหงาย, การลดน้ำหนัก หรือการฝึกกล้ามเนื้อคอหอยเพื่อเพิ่มแรงคงตัว เป็นต้น
การนอนหลับอย่างมีคุณภาพดีอย่างไร ?
“การนอนหลับ” เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดที่จะทำให้ร่างกายได้พักส่งผลให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย จิตใจ เป็นไปอย่างปกติ และมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลดังกล่าวการนอนไม่เพียงพอ หรือนอนไม่มีคุณภาพย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ การดำเนินชีวิต และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
การนอนหลับผิดปกติ เป็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในแง่ปริมาณการนอนหรือคุณภาพการนอนที่เปลี่ยนแปลง เช่น ภาวะนอนไม่หลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกลั้น ภาวะง่วงนอนผิดปกติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อร่างกาย จิตใจและคุณภาพชีวิต