ตรวจสุขภาพโรคทั่วไปมีอะไรบ้าง?

ตรวจสุขภาพโรคทั่วไปมีอะไรบ้าง?

ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจความเสี่ยงโรคอะไรบ้าง? ใครบ้างที่ควรตรวจ?

การตรวจสุขภาพประจำปี

   การตรวจสุขภาพประจำปี คือการคัดกรองโรคเบื้องต้นในขณะร่างกายไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เป็นการหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเพื่อรักษาก่อนที่โรคจะลุกลามรุนแรง

ตรวจสุขภาพประจำปีสำคัญอย่างไร?

   ในปัจจุบัน พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยภายนอกทางสิ่งแวดล้อม และโรคบางโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างมาก การตรวจสุขภาพประจำปีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกคน ในทุกช่วงวัย การตรวจสุขภาพสามารถช่วยค้นพบโรคหรือภาวะผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งอาจไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตเห็น เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยตรวจพบโรคต่างๆ ยังสามารถบอกถึงความแข็งแรงของร่างกายได้อีกด้วย

ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพ? 
   แนวทางการตรวจสุขภาพประจำปีควรปรับให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ได้แก่ กลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น (ช่วงอายุ 0-18 ปี) กลุ่มวัยทำงาน (ช่วงอายุ 18-60 ปี) กลุ่มวัยผู้สูงอายุ (ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป) และกลุ่มสตรีมีครรภ์ แต่หากในกรณีที่สงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อโรคสามารถเข้ารับการตรวจได้เลย
  • การตรวจสุขภาพของผู้หญิง มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายที่พบได้บ่อยในผู้หญิง จึงควรตรวจคัดกรองโรคเหล่านี้เป็นประจำเมื่อช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม
  • การตรวจสุขภาพของผู้ชาย ควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากปีละ 1 ครั้ง เมื่ออายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
 การตรวจสุขภาพ
วัดความดันโลหิตและชีพจร

วัดความดันโลหิตและชีพจรเพื่อตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

การวัดค่าดัชนีมวลกาย

วัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เพื่อชี้วัดความสมดุลของน้ำหนักตัว โดยประเมินจากน้ำหนักตัวและส่วนสูง

การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ 
เพื่อให้การตรวจมีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้เข้ารับการตรวจสุขภาพควรเตรียมตัว ดังนี้ 
  • งดน้ำและอาหาร ควรงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ โดยเฉพาะการตรวจที่ต้องเจาะเลือด เช่น การตรวจวัดน้ำตาลในเลือด การตรวจไขมันในเลือด 
  • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง 
  • แต่งกายให้เหมาะสม หากมีการเจาะเลือดบริเวณแขน ควรสวมเสื้อผ้าเหมาะสม
  • หากตั้งครรภ์หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ควรแจ้งแพทย์ก่อนตรวจทุกครั้งเพื่องดการตรวจเอกซเรย์
การเตรียมตัวเหล่านี้จะช่วยให้การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นไปอย่างราบรื่น และได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด
สิ่งที่ควรทำก่อนการตรวจสุขภาพประจำปี
  • เตรียมข้อมูลประวัติสุขภาพ จดบันทึกประวัติสุขภาพและประวัติการรักษาทางการแพทย์ ระบุโรคประจำตัว ยาที่ทาน ประวัติการผ่าตัด เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลตรวจเลือด ใบรับรองแพทย์
  • งดการรับประทานอาหารหลังเวลาเที่ยงคืน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้เกิดการขาดน้ำ
  • การตรวจทางสูตินารี ควรหลีกเลี่ยงการตรวจช่วงมีประจำเดือน
สุดท้าย เตรียมคำถามที่สงสัยเกี่ยวกับสุขภาพไว้ก่อนเข้าตรวจ เพื่อสอบถามแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ ทั้งผลตรวจ โรคที่พบ ความเสี่ยงในการเกิดโรค และข้อสงสัยทางสุขภาพอื่นๆ

การตรวจสุขภาพประจําปี ควรตรวจอะไรบ้าง?
  • ตรวจวัดความดัน
  • ตรวจเลือดเพื่อหาระดับคอเลสเตอรอล
  • ตรวจหาระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)
  • การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA): สำหรับผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อประเมินความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก: สำหรับผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อประเมินความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม: สำหรับผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปี ด้วยการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer Screening)
  • ตรวจดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่โดยการสวนสารทึบรังสีชนิดแป้งแบเรี่ยมหรือลมเข้าทางทวารหนัก (Barium Enema)
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Coloscopy)
  • ตรวจวัดสายตา วัดการมองเห็น โดยจักษุแพทย์ 
  • ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน โดยทันตแพทย์
  • วัดดัชนีมวลกาย (BMI)
  • ตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone Densitometry)
ตรวจสุขภาพ (ตรวจเลือด) 
ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด 

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด สำคัญต่อระบบของร่างกายเพราะเม็ดเลือดแดงทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงระบบต่างๆ ในร่างกาย และเม็ดเลือดขาวสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน

ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจวัดระดับฮีโมโกลบิน A1c (HbA1c) ซึ่งเป็นการตรวจวัดค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการตรวจที่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เช่น ชอบทานของหวาน ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ออกกำลังกายไม่สม่ำเสมอ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อน้ำตาลในเลือด โดยน้ำตาลจะไปเกาะตามเม็ดเลือดแดง ทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

ตรวจการทำงานของไต

ตรวจวัดระดับ Creatinine ในเลือด เพื่อตรวจการทำงานของไต หากในเลือดมีปริมาณ Creatinine สูงอาจเป็นสัญญาณของโรคไตได้

ตรวจหาระดับกรดยูริคในเลือด

เมื่อมีระดับกรดยูริคในเลือดสูงเกินไป กรดยูริคจะไปจับตัวกับโซเดียมในเลือดจนเกิดเป็นเกลือยูเรต (Monosodium urate) เกลือยูเรตเหล่านี้ มื่อไปสะสมตามข้อในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณนิ้วเท้า ข้อเท้า เข่า สะโพก และกระดูกสันหลัง จะทำให้เกิดโรคข้ออักเสบเรื้อรังหรือที่เรียกว่า โรคเกาต์ หากตรวจพบแต่เนิ่นๆ จะสามารถทำให้ควบคุมอาหารซึ่งเป็นสาเหตุของกรดยูริคได้

ตรวจไขมันในเลือด 
ตรวจไขมันในเลือด คือการตรวจระดับไขมันทุกส่วนประกอบของเส้นเลือดในร่างกาย โดยไชมันในเลือดมี 3 ชนิดได้แก่ 
  • ไขมันดี (HDL) ทำหน้าที่กำจัดไขมันที่อันตรายต่อร่างกาย
  • ไขมันไม่ดี (LDL) เป็นไขมันที่เป็นอันตรายกับร่างกาย หากเกาะบริเวณผนังหลอดเลือดจะทำให้เลือดไหลเวียนน้อยลง
  • ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) หากมีไขมันชนิดนีมากเกินไปอาจเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองได้
ตรวจสุขภาพโดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์
ตรวจเอกซเรย์ปอด

การตรวจเอกซเรย์ปอด เพื่อตรวจคัดกรองและหาความผิดปกติเช่น ปอดแฟบ น้ำท่วมปอด เป็นต้น

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

แพทย์สามารถวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูว่าหัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติหรือไม่ มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือด หรือโรคอื่นๆ ได้

ตรวจสุขภาพเฉพาะด้าน
ตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์

ควรตรวจสุขภาพช่องปากและฟันโดยทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อสามารถตรวจพบโรคทันตกรรมและรักษาก่อนที่จะลุกลาม บางรายอาจต้องมีการเอกซเรย์ช่องปากด้วยเพื่อเห็นโครงสร้างฟันอย่างละเอียด

ตรวจวัดสายตา

หากมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจวัดสายตาและตรวจคัดกรองโรคต้อหิน ภาวะความดันลูกตาสูง และตรวจหาความปกติอื่นๆ อย่างน้อย 1 ครั้งโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

สรุป

การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นกระบวนการที่สำคัญที่ช่วยในการคัดกรองโรคเบื้องต้นในขณะที่ยังไม่มีอาการชัดเจน เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคในอนาคตและตรวจการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการผิดปกติใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

อ้างอิง :

โปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี
https://www.nonthavej.co.th/annual-check-up-program.php