ปวดศีรษะ

ปวดศีรษะ (Headache) เป็นอาการที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย และพบบ่อย คนทั่วไปมากกว่า 90% จะเคยปวดศีรษะอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต อาการปวดศีรษะเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วก็อาจส่งผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ ทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองจนถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต เช่น เลือดออกหรือเนื้องอกในสมอง รวมถึงส่งผลต่อสังคมรอบข้าง เช่น ปวดศีรษะไมเกรนรุนแรงและปวดบ่อยจนต้องหยุดงานเป็นประจำ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ เกิดผลเสียต่อครอบครัวและองค์กร

อาการปวดศีรษะแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่

1. ปวดศีรษะชนิดปฐมภูมิ (Primary headaches) เป็นอาการปวดศีรษะที่ไม่มีสาเหตุหรือพยาธิสภาพที่อันตราย เช่น         ไมเกรน (Migraine), ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension-type headache), ปวดศีรษะที่เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 กับระบบประสาทอัตโนมัติ (Trigeminal autonomic cephalalgias)

2. ปวดศีรษะชนิดทุติยภูมิ (Secondary headaches) เป็นอาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุหรือพยาธิสภาพที่อันตราย โดยอาจมีสาเหตุจากในกะโหลกศีรษะเอง ได้แก่ เนื้องอก เลือดออกในสมอง โพรงน้ำในสมองคั่งผิดปกติ หลอดเลือดดำอุดตัน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง เป็นต้น ส่วนสาเหตุจากนอกกะโหลกศีรษะ ได้แก่ ไข้ โรคบริเวณข้อต่อขากรรไกร การใช้ยา/ถอนยาหรือสารเสพติดบางอย่าง กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดที่ศีรษะและคอ โรคทางจิตใจ โรคตาเช่นต้อหิน โรคหูคอจมูกเช่นไซนัสอักเสบ โรคทันตกรรมเช่นฟันผุ

3. ปวดศีรษะจากเส้นประสาทสมอง ใบหน้า และอื่นๆ (Painful cranial neuropathies, other facial pains and other headaches) เช่น ปวดศีรษะจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (Trigeminal neuralgia)

สัญญาณบ่งชี้ว่าอาการปวดศีรษะนั้นอาจเป็นอันตราย ควรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่
- ปวดศีรษะครั้งแรกในชีวิต (ไม่เคยปวดแบบนี้มาก่อน)
- ปวดศีรษะรุนแรงมากที่สุดในชีวิต ปวดฉับพลันทันที
- ปวดศีรษะมากจนต้องตื่นกลางดึก
- ปวดศีรษะข้างเดิมตลอด
- ปวดศีรษะมากขึ้นเมื่อไอ จาม เบ่ง ออกแรง เปลี่ยนท่าทาง หรือขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปีที่มีอาการปวดศีรษะครั้งแรกหรือเปลี่ยนไปจากเดิม
- ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น การติดเชื้อเรื้อรัง, โรคมะเร็ง, SLE (โรคแพ้ภูมิตนเองหรือลูปัส)
- ปวดศีรษะจนต้องใช้ยาแก้ปวดปริมาณมากหรือบ่อย
- ปวดศีรษะร่วมกับอาการผิดปกติอย่างอื่น เช่น ไข้ ผื่น เห็นภาพซ้อน หลงลืม พูดลิ้นแข็ง ปากเบี้ยว ชา อ่อนแรง เดินเซ ชัก สับสน เป็นต้น

     การวินิจฉัยว่าอาการปวดศีรษะเกิดจากสาเหตุหรือโรคใด สามารถทำได้ด้วยการสัมภาษณ์ประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจร่างกายทางระบบประสาท เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (Brain CT) การสร้างภาพด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็ก (Brain MRI, MRA, MRV) การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) การตรวจเลือด โดยแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้ป่วยแต่ละคนควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีใดบ้างซึ่งขึ้นกับโรคที่สงสัย ส่วนการรักษาจะแตกต่างกันไปในแต่ละสาเหตุ มีทั้งการหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้ปวดศีรษะ การกินยาแก้ปวดตามอาการ การกินยาป้องกันการปวดศีรษะ การฉีดยา การใช้เลเซอร์ การใส่สายสวนทางหลอดเลือด การผ่าตัด กายภาพบำบัด และปรึกษาสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

     โดยสรุป อาการปวดศีรษะเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือทุพพลภาพ ส่งผลร้ายเป็น         วงกว้าง ดังนั้น การวินิจฉัยและรักษาที่แม่นยำทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งจะช่วยป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบต่อผู้ป่วย คนรอบข้าง รวมไปถึงประเทศชาติ ารสร้างภาพด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็ก (Brain MRI, MRA, MRV) การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) การตรวจเลือด โดยแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้ป่วยแต่ละคนควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีใดบ้างซึ่งขึ้นกับโรคที่สงสัย ส่วนการรักษาจะแตกต่างกันไปในแต่ละสาเหตุ มีทั้งการหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้ปวดศีรษะ การกินยาแก้ปวดตามอาการ การกินยาป้องกันการปวดศีรษะ การฉีดยา การใช้เลเซอร์ การใส่สายสวนทางหลอดเลือด การผ่าตัด กายภาพบำบัด และปรึกษาสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูล
นพ.ชนาพัฒน์ ภัทรมัย
อายุรแพทย์ระบบประสาท
ศูนย์สมองและระบบประสาท
โรงพยาบาลนนทเวช